จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตเป็นสิ่งถูกรู้ได้ยากกว่าเวทนา เพราะปกติคนเราจะถูกความรู้สึกนึกคิดห่อหุ้มไว้ เป็นเปลือกหนาชั้นแรกสุด หากขาดการรองรับจากการรู้ระดับต้นๆ เช่น การมีสติกำหนดรู้กายในกายานุปัสสนาและการกำหนดรู้เวทนาในเวทนานุปัสสนา ก็จะเข้าถึงการรู้สภาพจริงๆ ของจิตในปัจจุบันขณะได้ยากมาก เมื่อพิจารณาข้อปฏิบัติการดูจิตก็คือให้รู้จักจิตทุกแบบ ไม่ยกเว้นแม้แต่จิตที่นิ่ง หรือจิตที่หลุดพ้น
พระพุทธองค์ทรงมีอุบายวิธีให้รู้จักจิตอย่างเหมาะสมในขั้นต้น คือให้ดูที่เปลือกหยาบของจิตก่อน คือให้รู้ตามจริงว่าจิตมีราคะเป็นอย่างไร จิตมีโทสะเป็นอย่างไร จิตมีโมหะเป็นอย่างไร พอเห็นบ่อยๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาวะของจิตแบบหยาบได้เองว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นสภาวจิตแบบหยาบได้ ต่อไปก็ค่อยพัฒนาไปเห็นสภาวจิตแบบละเอียดได้เช่นกัน และสรุปสุดท้ายก็ให้รู้ว่าจิตทุกสภาวะนั้นมีลักษณะเหมือนกันหมด คือ มีความไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน
หลักการใช้สติพิจารณาจิต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ควรพิจารณาจิตดังต่อไปนี้ คือถ้าจิตมีราคะ (โลภ กำหนัด) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีราคะ”
ถ้าจิตปราศจากราคะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากราคะ”
ถ้าจิตมีโทสะ (โกรธ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีโทสะ”
ถ้าจิตปราศจากโทสะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากโทสะ”
ถ้าจิตมีโมหะ (หลง) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีโมหะ”
ถ้าจิตปราศจากโมหะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากโมหะ”
ถ้าจิตหดหู่ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ จิตดวงนี้หดหู่”
ถ้าจิตฟุู้งซ่าน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ฟุู้งซ่าน”
ถ้าจิตบรรลุฌาน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้บรรลุฌาน”
ถ้าจิตยังไม่บรรลุฌาน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังไม่บรรลุฌาน”
ถ้าจิตยังมีจิตอื่นสูงกว่า ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังมีจิตอื่นสูงกว่า”
ถ้าจิตไม่มีจิตอื่นสูงกว่า ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ไม่มีจิตอื่นสูงกว่า”
ถ้าจิตเป็นสมาธิ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้เป็นสมาธิ”
ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ไม่เป็นสมาธิ”
ถ้าจิตหลุดพ้นจากกิเลส ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้หลุดพ้นจากกิเลส”
ถ้าจิตยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส”
ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณาโดยมีวิธีการปฏิบัติโดย
สรุป คือ
๑. ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีข้างต้นนี้มาพิจารณา จิตภายในคือจิตของตนให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิต
๒. หรือจะนำจิตภายในมาพิจารณาเปรียบเทียบกับ จิตภายนอกคือ จิตของผู้อื่น ให้เห็นว่าจิตของผู้อื่นก็เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิตเหมือนกับจิตของเรานั่นเอง
๓. หรือจะใช้สติพิจารณาทั้งจิตภายในและจิตภายนอกให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิต สลับกันไปก็ได้
๔. ใช้สติพิจารณาการเกิดและธรรมเป็นเหตุเกิดแห่งจิต หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งจิต หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด -ดับและธรรมเป็นเหตุเกิด -ดับแห่งจิต สลับกันไปก็ได้
๕. ต้องมีสติอยู่เสมอว่า สภาวะที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียงจิตเท่านั้น (ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา) และควรตระหนักด้วยว่าการที่นำเอาจิตมาพิจารณาตามนัยข้างต้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพียงต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น และเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญสติเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขาร (จิต) ใดๆ ที่กำลังเกิดดับอยู่
จบ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน