เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนานี้มีสภาพของความเป็นนาม นามจะรู้ได้ยากกว่ารูป แต่เวทนาก็ยังเป็นสิ่งถูกรู้ได้ง่ายกว่าสภาพของจิต เพราะความรู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ที่เรียกว่าเวมนานั้นเกิดขึ้นเนื่องจากผัสสะ คือ การกระทบทางตา หูจมูก ลิ้น และกาย แม้แต่ความคิดซึ่งเข้ากระทบใจอยู่ตลอดก็มีผัสสะที่ให้ความรู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ได้ หากพิจารณาข้อปฏิบัติอันเป็นที่สุดของเวทนาก็คือให้รู้จักเวทนาทุกชนิด ทุกเงื่อนไข โดยเริ่มจากง่ายๆ คือให้รู้ว่า อย่างนี้สุข อย่างนี้ทุกข์ อย่างนี้เฉยๆ
เวทนาเป็นนามธรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่สังเกตเห็นได้ เช่น สุขใจ กับ ทุกข์ใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเห็นลักษณะของเวทนา ซึ่งเวทนาแต่ละอย่างก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การพิจารณาจะต้องเป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง ฉะนั้นการปฏิบัติในหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตจะเข้าไปรู้ธรรมชาติในระดับที่ละเอียดขึ้นกว่ากายานุปัสสนาแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติที่เข้าใกล้สัจจะที่เกี่ยวกับอนิจจังของสภาวะแห่งรูปและนามได้ดีอีกด้วย
หลักการใช้สติพิจารณาเวทนา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ควรพิจารณาเวทนา ดังต่อไปนี้คือ
ถ้ารู้สึกเป็นสุข ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ สุข”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ทุกข์”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า“ ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์(เฉยๆ)”
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ สุขนี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ สุขนี้ไม่อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้ไม่อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) นี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) นี้ไม่อิงอามิส
การรู้สุขเวทนาแบบชาวโลกที่รู้กันทั่วๆไป เช่น เด็กอ่อนที่ยังนอนแบเบาะอยู่เมื่อได้กินนมก็ย่อมรู้ชัดว่าเรากำลังสุขอยู่ การรู้แบบนี้ไม่เป็นไปเพื่อละทิฏฐิ ตัณหา มานะ ฉะนั้น การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้มุ่งหมายความรู้สุขเวทนาเป็นต้น เหมือนอย่างที่เด็กอ่อนรู้นั้น แต่ต้องกำหนดรู้สุขเวทนานั้นที่สภาวะลักษณะว่ามีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุ เช่น สุขเวทนา เกิดขึ้นเพราะมีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ดี เกิดขึ้นแล้วมีความสุขทางกาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการรับรู้อารมณ์โดยใคร เวทนาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่สัตว์บุคคล แต่ที่เป็นไปได้ก็เพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์ จึงมีการรับรู้(เสวย)อารมณ์นั้นๆ แต่เพราะไม่เข้าใจความเป็นจริงอย่างนี้ บุคคลทั้งหลายจึงยึดถือเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้นว่าเราเสวยเวทนา
ฉะนั้น คำว่าเราสุข เราทุกข์ จึงเป็นเพียงแค่โวหารเรียกขานกันเท่านั้น ความเป็นจริงหามีเราสุข เราทุกข์ไม่ มีแต่อารมณ์กับการรับรู้อารมณ์เท่านั้น ดังตัวอย่างจากอรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ แสดงไว้ว่า พระเถระรูปหนึ่งท่านไม่สบาย ถอนหายใจพลาง นอนกลิ้งไปมาอยู่ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งถามท่านว่า ท่านขอรับ ที่ตรงไหนของท่านที่โรคเสียดแทง พระเถระตอบว่า ชื่อว่าที่ซึ่งโรคเสียดเฉพาะแห่งไม่มี เวทนาต่างหากเสวย เพราะกระทำวัตถุให้เป็นอารมณ์ ภิกษุหนุ่มเรียนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านควรจะยับยั้งไว้ตั้งแต่เวลาที่รู้ มิใช่หรือ พระเถระตอบว่า ผมกำลังยับยั้ง ภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านขอรับ การยับยั้งไว้เป็นของประเสริฐ พระเถระได้ยับยั้งไว้แล้ว ลำดับนั้นลมเสียดแทงถึงหัวใจ ใส้ใหญ่ได้ออกมากองอยู่บนเตียง พระเถระได้ชี้ให้ภิกษุหนุ่มดูว่า ยับยั้งไว้ขนาดนี้สมควรหรือยัง ภิกษุหนุ่มนิ่ง พระเถระประกอบความเพียรสม่ำเสมอ แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วปรินิพพานทันที (เป็นพระอรหันต์ประเภทชีวิตสมสีสี)
การกำหนดเวทนา เวทนาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการรับกระทบกับอารมณ์ คือมี ผัสสะ เวทนา วิญญาณ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เกิดแต่เฉพาะผัสสะเท่านั้น แต่เวทนาที่รับรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้นพร้อมกันกับผัสสะตลอดจนกระทั่งธรรมอื่นอันได้แก่ สัญญา ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์
เจตนา คือความจงใจ ตลอดจน วิญญาณ ที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะกำหนดเวทนาก็ย่อมจะต้องกำหนดเจตสิกธรรม คือ ผัสสะนั้นด้วยเมื่อการกระทบอารมณ์เกิดขึ้นแล้วเวทนา สัญญา และธรรมอื่นๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้วก็จะทราบชัดว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกรชกาย(รูปร่างกาย)นี้ เมื่อพิจารณากรชกายก็จะเห็นแต่เพียงมหาภูตรูปและอุปาทายรูปนั้นเอง ธรรม (อันได้แก่ ผัสสะ เวทนา)ที่อาศัยมหาภูตรูปและอุปาทายรูปเกิดขึ้น ธรรมเหล่านี้เป็นเพียงนาม ฉะนั้น ทั้งหมดล้วนแต่เป็นขันธ์ ๕ คือ รูปเป็นรูปขันธ์ ธรรมที่เหลือเป็นนามขันธ์ ๔ เมื่อพิจารณาได้อย่างถูกต้องอย่างนี้แล้วก็จะมีแต่เพียงรูปกับนามเท่านั้น มีแต่ขันธ์ ๕ เท่านั้น สิ่งที่จะพ้นไปจากรูปนามขันธ์ ๕ ย่อมไม่มี
เมื่อพิจารณาโดยขันธ์ ๕ ได้แล้วก็ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ก็จะพบว่าเพราะอวิชชา(ความไม่รู้)เป็นต้นเหตุ เพราะความไม่รู้จึงไปทำบุญบ้างทำบาปบ้าง เมื่อเหตุบุญเหตุบาปมีแล้วผลย่อมปรากฏโดยการนำเกิดขึ้นมาในภพใหม่ชาติใหม่ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อสาวหาเหตุได้ถูกต้องแล้วว่า เพราะอวิชชาเป็นเหตุนี้เองจึงทำให้มาเกิดและได้รับเวทนาเหล่านี้อยู่ในขณะนี้ ต่อจากนั้นก็ยกขันธ์ ๕ นั้นขึ้นสู่การพิจารณาโดยความเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทั้งมวลไม่มีอย่างอื่นที่เป็นสัตว์หรือบุคคล มีเพียงกองสังขารล้วนๆ เท่านั้น แล้วพิจารณาโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไปตามลำดับแห่งวิปัสสนา
ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติสรุป ดังนี้
๒. หรือพิจารณาเปรียบเทียบเวทนาภายในกับภายนอก โดยการเปรียบเทียบเวทนาของตนกับของบุคคลอื่น ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา
๓. หรือจะใช้สติพิจารณารู้สลับกันไปมาระหว่างเวทนาภายในกับเวทนาภายนอก ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา
๔. ใช้สติพิจารณาการเกิดและธรรมอันเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งเวทนา หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด-ดับและธรรมเป็นเหตุเกิด-ดับแห่งเวทนา สลับกันไปก็ได้
๕. ต้องมีสติอยู่เสมอว่า สภาวะที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียง เวทนาคือความรู้สึกเท่านั้น (ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา ) และควรตระหนักด้วยว่าการที่นำเอา เวทนาคือความรู้สึกมาพิจารณาตามนัยข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น และเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญสติยิ่งๆ ขึ้นเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขารใดๆ ที่กำลังเกิดดับอยู่
จบ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (โดยสังเขป)