อรูปกรรมฐาน หรือเรียกว่าอารุปปกัมมัฏฐาน ผลของการสำเร็จอรูปกรรมฐานทำให้ไปเกิดในพรหมโลก เป็นอรูปพรหมคือพรหมไม่มีรูปร่าง กรรมฐานชนิดนี้ต่างจากกรรมฐานอื่นๆ ทั้งหมดตรงที่ว่าต้องเจริญกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๙ อย่าง ยกเว้นอากาสกสิณ (กสิณที่ว่าง) จนเชี่ยวชาญช่ำชอง ได้ถึงรูปฌาน ๔ (โดยจตุกกนัย) หรือต้องถึงรูปฌานที่ ๕ (โดยปัญจกนัย) ถึงจะเจริญอรูปกรรมฐานได้
อรูปกรรมฐานจึงไม่ใช่กรรมฐานที่คนไม่มีพื้นฐาน ไม่ได้ฌานจะปฏิบัติได้ (การเจริญอรูปกรรมฐานได้แสดงไว้ในเรื่องอรูปฌานไว้แล้ว ฉะนั้นในบทนี้จะแสดงเพียงโดยย่อเท่านั้น)
อรูปกรรมฐาน ๔ ได้แก่
๑. อากาสานัญจายตนะ กำหนดช่องว่างหรืออากาศหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์
๒. วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์
๓. อากิญจัญญายตนะ กำหนดภาวะไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
วิธีการเจริญอรูปกรรมฐาน
อรูปกรรมฐานที่ ๑ เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญกสิณ ๙ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้สำเร็จรูปฌานแล้ว และมีความช่ำชองในการเจริญฌานของตน และให้เพิกกสิณนั้นเสีย การเพิกกสิณ คือ การไม่เอากสิณ นิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์แต่หันไปตั้งจิตพิจารณาอากาศอันว่างเปล่า จากกสิณนิมิตเป็นอารมณ์ และบริกรรมว่า อนันโต อากาโสๆๆ (อากาศไม่มีที่สิ้นสุดๆๆ) เรื่อยไปจนจิตสงบตามลำดับขึ้นไปจนถึงอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน
อรูปกรรมฐานที่ ๒ เจริญโดยละการพิจารณาอากาศที่กระทำในชั้นที่ ๑ จนได้อรูปฌาน ๑ นั้น แต่ไปกำหนดรู้จิตที่พิจารณาที่ว่างแทน คือวิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์บริกรรมว่า อะนันตัง วิญญาณังๆๆ (วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดๆๆ) จนได้อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน
อรูปกรรมฐานที่ ๓ เจริญโดยเลิกกำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ หันมากำหนดภาวะไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์บริกรรมว่า นัตถิกิญจิๆๆ (ความเหลืออยู่ของอากาสานัญจายตนฌานไม่มีๆๆ) จนได้อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน
อรูปกรรมฐานที่ ๔ เลิกกำหนดแม้แต่ภาวะที่ไม่มีอะไรเลย เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ บริกรรมว่า สันตะเมตัง ปณีตะเมตังๆๆ (อากิญจัญญายตนฌานนี้มีสมาธิสงบมาก ประณีตมากๆๆ) จนได้อรูปฌาน ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
จบอรูปกรรมฐาน ๔