กลับไป อัปปมัญญา ๔ หน้าแรก (เมตตา)
๒. กรุณาภาวนา
การเจริญกรุณา คือ การแผ่ความกรุณาในสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่ หรือกำลังจะได้รับความทุกข์ในภายหน้า องค์ธรรมได้แก่ กรุณาเจตสิก ที่มีทุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ การแผ่ความกรุณา คือ การแผ่ความกรุณาสงสารในสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่ หรือกำลังจะได้รับความทุกข์ในภายหน้า เช่น เห็นบุคคลที่กำลังได้รับทุกข์ก็พิจารณาว่า บุคคลนี้กำลังเป็นทุกข์เขาจะหลีกพ้นทุกข์ได้อย่างไร หรือขอให้สัตว์ทั้งหลายจงพ้นทุกข์เถิด หรือเห็นว่าบุคคลนี้ทำกรรมชั่ว ก็คิดกรุณาสงสารว่าเขาจะต้องได้รับทุกข์ในภายภาคหน้า
การเจริญกรุณา ใช้คำภาวนาว่า “สัพเพ สัตตา ทุกขา ปมุจจันตุ....” มีความหมายว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กายทุกข์ใจเถิด การเจริญกรุณานั้นจิตจะต้องเป็นโสมนัส(เป็นสุขปลาบปลื้ม) ไม่ใช่เศร้าเสียใจ ถ้าเศร้าเสียใจนั่นเป็นอกุศล ไม่ใช่กรุณา เช่น เราไปงานศพเห็นว่าครอบครัวผู้ตายลำบาก เราสงสารเกิดเสียใจอย่างนี้จัดเป็นอกุศล เพราะจิตเป็นทุกข์ไม่ผ่องใส การแผ่กรุณา ก็เช่นเดียวกับเมตตา คือต้องเริ่มต้นที่การแผ่ให้กับตนเองก่อน จนในที่สุดแผ่ถึงศัตรู การเจริญกรุณาภาวนาสามารถทำให้เกิดอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ได้ถึงฌาน ๔ ตามลำดับ
กรุณาแผ่ยากกว่าเมตตา เพราะในบุคคลที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก เช่น กำลังได้รับความทุกข์จากการสูญเสียญาติ ทรัพย์ ได้รับทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ อยู่นั้น เราก็ต้องแผ่ให้เป็นกรุณาให้ได้ ผู้ที่ปรารถนาที่จะเจริญกรุณาภาวนาจนได้ฌานก็ต้องพิจารณาในความทุกข์ ของบุคคลต่างๆ แล้วให้เป็นอารมณ์ของการเจริญกรุณาภาวนาให้ได้ สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เจริญกรุณาภาวนาอาจจะทนไม่ได้กับความทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย
วิธีการแผ่กรุณาอัปปมัญญา
การแผ่กรุณาเพื่อยังฌานจิตให้สำเร็จ ต้องทำตามลำดับขั้นตอนดังนี้ คือ
๑. แผ่ให้กับตนเองก่อน
๒. แผ่ให้กับมัชฌัตตบุคคล
๓. ปิยบุคคล
๔. เวรีบุคคล
แผ่ให้กับตนเองก่อนเพื่อผล ๒ ประการ คือ
๑. เพื่อให้ส้าเร็จฌาน ๒.ให้ตัวเองเป็นพยาน
แล้วจึงแผ่ไปในมัชฌัตตบุคคลไปตามลำดับ การที่จะแผ่ให้กับปิยบุคคลหรือบุคคลอันเป็นที่รักก่อนนั้น กรุณาแท้ก็จะไม่เกิด เกิดแต่กรุณาเทียม หรือถ้าแผ่ไปในเวรีบุคคลก่อน กรุณาก็ไม่เกิด อาจเกิดแต่ความดีใจที่ศัตรูของตนได้รับความลำบากได้รับทุกข์ อันเป็นโลภะที่ยินดีพอใจในทุกข์ของศัตรู ฉะนั้น จึงต้องแผ่กรุณาไปตามลำดับขั้นจนถึงขั้นสามารถทำลายสีมสัมเภทได้ ซึ่งวิธีการก็เป็นเช่นเดียวกับวิธีแผ่เมตตา และการที่จะไม่ให้โลภะเกิดขึ้นในขณะที่แผ่กรุณาต่อปิยบุคคล หรือไม่ให้โทสะเกิดขึ้นในขณะแผ่กรุณากับเวรีบุคคล ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับที่กล่าวไว้ในเมตตา จะมีการพิจารณาต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย
คำที่ใช้แผ่กรุณาให้กับตนเองใช้คำว่า อหัง ทุกขา มุจจามิข้าพเจ้าจงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ คำแผ่ไปในบุคคลอื่นถ้าเป็นคนเดียวใช้คำว่า ทุกขา มุจจตุ ขอท่านจงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ถ้าบุคคลอื่น ๒ คนขึ้นไป ใช้คำว่า ทุกขา มุจจันตุ ขอท่านทั้งหลายจงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ คำบริกรรมท่องจำแผ่กรุณาทั่วไปอย่างสามัญนั้น ว่าโดย อาการแห่งกรุณา คือ ทุกขา มุจจันตุ ว่าโดย บุคคลที่ได้รับการแผ่กรุณา มี ๑๒ จำพวก คือ บุคคลไม่เจาะจง ๕ จำพวก บุคคลเจาะจง ๗จำพวก และแผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐
แผ่กรุณาแบบไม่เจาะจง ๕ จำพวก
สัพเพ สัตตา ทุกขา มุจจันตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ ปาณา ทุกขา มุจจันตุ ขอสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ ภูตา ทุกขา มุจจันตุ ขอสัตว์ที่ปรากฏชัดทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ ปุคคลาทุกขา มุจจันตุ ขอบุคคลทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ อัตตภาวปริยาปันนา ทุกขา มุจจันตุ ขอสัตว์ที่มีอัตภาพทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กายทุกข์ใจ
แผ่กรุณาแบบเจาะจง ๗ จำพวก
สัพพา อิตถิโย ทุกขา มุจจันตุ ขอหญิงทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ ปุริสา ทุกขา มุจจันตุ ขอชายทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ อริยา ทุกขา มุจจันตุ ขอพระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ อนริยา ทุกขา มุจจันตุ ขอปุถุชนทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ เทวา ทุกขา มุจจันตุ ขอเทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ มนุสสา ทุกขา มุจจันตุ ขอมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
สัพเพ วินิปาติกา ทุกขา มุจจันตุ ขอพวกวินิปาติกอสุราทั้งหลายทั้งปวง จงพ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
และการแผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ วิธีการเช่นเดียวกับการเมตตานั่นเอง
สรุป
๑. การแผ่กรุณาแบบไม่เจาะจง ๕ แบบเจาะจง ๗ รวมเป็น ๑๒ ประการ
๒. การแผ่กรุณาไปในทิศทั้ง ๑๐ หนึ่งทิศได้กรุณา ๑๒ ถ้า ๑๐ทิศ รวมเป็น ๑๒๐ ประการ
รวมเป็น ๑๓๒ ประการ
นิมิต ๓ ภาวนา ๓ อานิสงส์ ๑๑ ก็เป็นไปเช่นเดียวกันกับเมตตา
ข้อควรรู้ในการเจริญกรุณาอัปปมัญญากรรมฐาน
๑. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา มีความเป็นไปแห่งกาย วาจา ใจ อันที่จะบำบัดทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป
๒. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา ย่อมอดกลั้นทนนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของผู้อื่น และอยากช่วยเหลืออยู่เป็นนิจ
๓. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา ย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๔. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา ย่อมพิจารณาเห็นบุคคลที่ตกอยู่ในความทุกข์ไร้ที่พึ่ง
๕. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา ถ้าไม่สามารถแผ่กรุณาให้กับเวรีบุคคล ก็จะทำให้โทสะเกิดขึ้น จึงไม่สามารถเจริญกรุณาให้สำเร็จ
๖. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา ถ้าไม่สามารถระงับความเศร้าโศกเมื่อทราบถึงความทุกข์ของผู้อื่นแล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถเจริญกรุณาได้
๗. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา ถ้าเป็นผู้ที่มักเสียใจอยู่เสมอต่อกามคุณอารมณ์ต่างๆ ก็ย่อมจะไม่สามารถแผ่กรุณาได้
๘. ผู้ปฏิบัติเจริญกรุณา ถ้าเป็นผู้ที่ชอบเบียดเบียนสัตว์ก็ไม่สามารถแผ่กรุณาได้
จบ กรุณา
มุทิตาภาวนา หมายความว่า การพลอยยินดีชื่นชมเมื่อได้ยินได้เห็นผู้อื่นเป็นสุขสบาย ได้รับความเจริญ ได้ลาภยศ สมบัติต่างๆ องค์ธรรมได้แก่ มุทิตาเจตสิกที่มีสุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ การแผ่มุทิตาภาวนา เช่น ขอให้ผู้นั้นจงยั่งยืนบริบูรณ์ในความสุข ในลาภ ยศ สมบัตินั้นๆ เถิด
การเจริญมุทิตาต้องเริ่มแผ่ตามลำดับบุคคล คือ
๑. แผ่ให้กับตนเองก่อน
๒. ตามด้วยบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง
๓. บุคคลอันเป็นที่รัก
๔. บุคคลกลางๆ (ไม่รักไม่ชัง)
๕. บุคคลที่เป็นศัตรู
การเจริญมุทิตาภาวนาสามารถสำเร็จอัปปนาสมาธิ และมีอานิสงส์อื่นๆ เช่นเดียวกับเมตตา มุทิตา เมื่อว่าโดยสามัญแล้วมี ๒ อย่าง คือ มุทิตาแท้และมุทิตาเทียม มุทิตาแท้ นั้นผู้ปฏิบัติจะมีความรื่นเริงบันเทิงใจต่อสัตว์ที่มีสุข หรือจะได้รับสุขต่อไปข้างหน้า จิตใจจะไม่มีการยึดถือหรืออยากโอ้อวดต่อผู้อื่นแต่อย่างใด มีแต่ความเบิกบานแจ่มใสซึ่งเป็นตัวมหากุศล มุทิตาเทียม นั้นถึงแม้จะมีความยินดีปรีดาก็จริง แต่ก็มีการยึดถืออยากได้ดีได้หน้า ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็เนื่องมาจากโลภนั่นเอง มุทิตาเทียมนี้ส่วนใหญ่มีอยู่ในบุคคลทั้งหลาย เช่นเมื่อได้ทราบว่า บิดา มารดา ญาติพี่น้อง บุตร ธิดา มิตรสหายของตนได้ลาภ ยศสรรเสริญ หรือได้เลื่อนยศตำแหน่งก็มีความยินดีด้วย โดยความยึดถือว่าผู้นั้นเป็นบิดา มารดา ญาติ ฯลฯ หรือยินดีกับเจ้านาย , เพื่อนร่วมงาน ที่ได้เลื่อนตำแหน่ง ก็ยินดีด้วยเพราะต้องการประจบสอพอ หวังประโยชน์ หรือยินดีด้วยเพราะมีเหตุผลบางประการซ่อนเล้นอยู่ เป็นต้น
การเจริญมุทิตากรรมฐานนี้ ผู้เจริญต้องทำการแผ่มุทิตาแท้ไปในสัตว์ทั้งหลายที่เป็นสุขิตบุคคล มี๒ จำพวก คือ
๑. ผู้ที่กำลังมีความสุขสบายอยู่หรือจะได้รับความสุขสบายในวันข้างหน้า
๒. ผู้ที่เคยมีความสุขสบายมาแล้ว แต่เวลานี้กำลังได้รับความลำบาก
ผู้เจริญมุทิตาถึงแม้จะไม่ได้พบเห็นบุคคลที่มีความสุข ก็จงแผ่ไปในบุคคลจำพวกที่ ๒ โดยคำนึงว่า บุคคลนี้แม้ว่ากำลังได้รับความลำบากอยู่ก็ตาม แต่เมื่อก่อนนี้เคยเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ มีความสุขกายสบายใจด้วย ลาภ ยศ ทรัพย์สินเงินทองมาแล้ว
วิธีการแผ่มุทิตาภาวนา
มีวิธีการเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการแผ่เมตตาภาวนาและกรุณาภาวนา คือต้องแผ่ไปตามลำดับเริ่มตั้งแต่ตนเองก่อน จนไปถึงเวรีบุคคล
๑. แผ่ให้กับตนเอง อหัง ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉามิ ขอข้าพเจ้าอย่าได้สูญสิ้นจากความสุข ความเจริญที่มีอยู่
๒. แผ่ให้ผู้อื่น ตวัง ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉาหิ ขอท่านอย่าได้สูญสิ้นจากความสุข ความเจริญที่มีอยู่
๓. แผ่ให้บุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ตุมเห ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉถะ ขอท่านทั้งหลายอย่าได้สูญสิ้นจากความสุข ความเจริญที่มีอยู่
แผ่ไม่เจาะจง ในบุคคล ๕ จำพวก
๑. สัพเพ สัตตา ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่
๒. สัพเพ ปาณา ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่
๓. สัพเพ ภูตา ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอสัตว์ที่ปรากฏชัดทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่
๔. สัพเพ ปุคคลา ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอบุคคลทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่
๕. สัพเพ อัตตภาวปริยาปันนา ยถาลัทธสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ขอสัตว์ที่มีอัตภาพทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่
แผ่มุทิตาเจาะจง ในบุคคล ๗ จำพวก และการไปในทิศทั้ง ๑๐ ก็มีวิธีการเป็นไปทำนองเดียวกันกับการ แผ่เมตตานั่นเอง
นิมิต ๓ ภาวนา ๓ อานิสงส์ ๑๑ ก็เป็นไปเช่นเดียวกันกับเมตตา
จบ มุทิตา
อุเบกขา หมายความว่า ความวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย โดยมีจิตใจที่ปราศจากอาการทั้ง ๓ โดยสิ้นเชิง คือ
๑. ไม่น้อมไปในความปรารถนาดี(เมตตา)
๒. ไม่น้อมไปในการที่จะบำบัดทุกข์(กรุณา)
๓. ไม่น้อมไปในการชื่นชมยินดีในความสุขของสัตว์ (มุทิตา)
จิตใจในขณะนั้นเป็นใจที่มีอุเบกขามีความเป็นกลาง เพราะมีสภาพธรรม หรือองค์ธรรม คือ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่มีมัชฌัตตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ (มีความเป็นกลางต่อสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์)
การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลายมี ๒ อย่าง คือ
๑. อุเบกขาแท้ คือ อุเบกขาที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งตัตรมัชฌัตตตา(ความวางเฉย) ที่ไม่มีการเกี่ยวข้องกับเมตตา กรุณา มุทิตา ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้นแต่อย่างใด
๒. อุเบกขาเทียม คือ การวางเฉยต่อสัตว์บุคคล ชนิดที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของ โมหะ เช่น
🔎เมื่อพบวัตถุหรือบุคคลที่น่าเคารพเลื่อมใส ก็ไม่รู้จักทำความเคารพเลื่อมใส
🔎 เมื่อพบวัตถุหรือบุคคลที่น่ากลัวน่าเกลียด ก็ไม่รู้จักกลัวรู้จักเกลียด
🔎 เมื่อพบเห็นสิ่งที่ควรสนับสนุนส่งเสริม ก็ไม่รู้จักสนับสนุนส่งเสริม
🔎 เมื่อพบเห็นสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีให้สมบูรณ์ในการงานทั้งปวง ก็นิ่งเฉยเสีย
ความวางเฉยดังตัวอย่างนี้ไม่ใช่อุเบกขา แต่เป็นสภาพของโมหะที่ครอบงำจิตใจ จัดเป็นอุเบกขาเทียม
บุคคล ๒ จำพวก
๑ . พวกธรรมดา ได้แก่ บุคคลที่ไม่รัก ไม่ชัง เฉยๆ บุคคลเช่นนี้เป็นอารมณ์ได้สำหรับจิตใจของบุคคลทั่วไป
๒. พวกที่เป็นไปด้วยอำนาจของภาวนาสมาธิ ได้แก่ ปิยบุคคล(บุคคลอันเป็นที่รัก) ในขณะที่เขามีความสุขอยู่หรือมีความทุกข์อยู่ก็ตาม และเวรีบุคคล(บุคคลที่เป็นเวรกัน) ในขณะที่มีความสุขอยู่หรือความทุกข์อยู่ก็ตาม ด้วยอำนาจของภาวนาสมาธิย่อมทำให้จิตใจของผู้เจริญสมาธิย่อมมีความเป็นกลางกับเขาเหล่านั้นได้
การเจริญอุเบกขาภาวนา
ผู้เจริญต้องทำการแผ่อุเบกขาไปในสัตว์บุคคลที่เป็นมัชฌัตตบุคคล (บุคคลกลางๆ) ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไปกับสุขหรือทุกข์ทั้งของตนเองและ ของผู้อื่น ทำใจน้อมนึกว่า “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ย่อมเป็นไปตามกรรมนั้น” การเจริญอุเบกขาภาวนาจนถึงได้อัปปนาฌาน
การเจริญอัปปมัญญาภาวนา เฉพาะการเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา จนถึงได้อัปปนาฌานนั้น ไม่จำกัดบุคคลและอารมณ์กรรมฐาน แต่สำหรับการเจริญอุเบกขานั้นผู้เจริญจะต้องเป็นฌานลาภีบุคคล (บุคคลที่บรรลุฌานที่ ๔ แล้วตามนัยพระสูตร หรือบรรลุฌานที่ ๕ แล้วตามนัยพระอภิธรรม) และต้องสำเร็จฌานชนิดที่เจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา อย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อนแล้ว ไม่ใช่สำเร็จจากกรรมฐานอื่นๆ จึงจะสามารถเจริญอุเบกขาภาวนา จนสำเร็จอัปปนาฌานได้
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงไว้ว่า ผู้ที่เจริญฌานโดยเจริญอัปปมัญญา คือ เมตตา กรุณา มุทิตา มาแล้ว และได้ฌานที่ ๔ (ตามนัยแห่งพระสูตร) หรือได้ฌานที่ ๕ (ตามนัยแห่งพระอภิธรรม) เมื่อออกจากฌานแล้วจึงทำจิตให้เป็นอุเบกขาไปยังบุคคลตามลำดับ คือ
๑. บุคคลที่เป็นกลางๆ(ไม่รักไม่ชัง)
๒. บุคคลอันเป็นที่รัก
๓.บุคคลที่เป็นศัตรู
เมื่อตั้งจิตไปในทั้ง ๓ บุคคลนี้แล้วจึง ตั้งจิตให้เป็นสีมสัมเภท คือ ทำลายขอบเขตของบุคคลไม่มีบุคคลใดๆ ที่เป็นกลาง ไม่มีบุคคลใดๆ ที่เป็นที่รัก ไม่มีบุคคลใดๆ ที่เป็นศัตรู บุคคลทั้งหลายเสมอกันหมด คือ ตั้งจิตในอุเบกขาต่อบุคคลต่างๆ นั้นเสมอกัน และแผ่ไปให้ทั่วทุกทิศ
กิจเบื้องต้นก่อนที่จะทำการเจริญอุเบกขา
ผู้ปฏิบัติก่อนที่จะทำการแผ่อุเบกขานั้น จะต้องชำนาญในจตุตถฌานอย่างดีเสียก่อน จากนั้นก็มีการพิจารณาโทษของฌานที่ได้มาจากการแผ่ เมตตา กรุณา มุทิตา และพิจารณาคุณของฌานที่เกิดจากการเจริญอุเบกขาต่อไป โดยพิจารณาดังนี้
เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ นี้มีสภาพหยาบ เพราะองค์ฌานประกอบด้วยโสมนัสเวทนา และยังมีความยินดีรักใคร่ในสัตว์ ทั้งยังประพฤติเป็นไปใกล้ต่อความเกลียดและความรัก สำหรับอุเบกขานั้นมีสภาพสงบ สุขุม ประณีต ห่างไกลจากกิเลสด้วย มีผลไพบูลย์ดีงามมากด้วย
เมื่อได้พิจารณาโทษของเมตตา กรุณา มุทิตา และพิจารณาคุณของอุเบกขาดังนี้แล้ว จากนั้นก็มีการพิจารณาในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามอำนาจแห่งการกระทำของตนๆ ดังต่อไปนี้
ผู้นี้ได้เกิดมาในภพนี้ ก็เพราะการกระทำของเขาเอง จักเกิดในภพหน้าต่อไปก็เพราะการกระทำของเขาเอง ตัวฉันเองที่เกิดมาในภพนี้และจักเกิดต่อไปในภพหน้า ก็เพราะการกระทำของฉันเอง ไม่ต่างอะไรกัน ฉะนั้น ฉันจะนำความสุข และทำลายความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้นี้ ด้วยความพยายามของฉันเองนั้นย่อมทำไม่ได้ เพราะธรรมดาชนทั้งหลายย่อมมีการกระทำของตนเองเป็นหลักที่ตั้ง ..
การแผ่อุเบกขาต้องแผ่ไปในบุคคลโดยลำดับ คือ
๑. เริ่มจากการแผ่ให้กับตนเองก่อน
๒. มัชฌัตตบุคคล
๓. ปิยบุคคล
๔. อติปิยบุคคล
๕. เวรีบุคคล
คำบริกรรมที่ใช้แผ่ให้ตนเอง ใช้คำว่า
อหัง กัมมัสสโก เรามีกรรมเป็นของของเรา แผ่ให้คนอื่น ถ้าคนเดียวใช้คำว่า กัมมัสสโก = บุคคลนี้มีกรรมเป็นของของตน
ถ้า ๒ คนขึ้นไปก็ใช้คำว่า กัมมัสสกา = สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน
แผ่อุเบกขาไม่เจาะจง (อโนทิสบุคคล) ๕
๑. สัพเพ สัตตา กัมมัสสกา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นของของตน
๒. สัพเพ ปาณา กัมมัสสกา สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นของของตน
๓. สัพเพ ภูตา กัมมัสสกา สัตว์ที่ปรากฏชัดทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นของของตน
๔. สัพเพ ปุคคลา กัมมัสสกา บุคคลทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นของของตน
๕. สัพเพ อัตตภาวปริยาปันนา กัมมัสสกา สัตว์ที่มีอัตภาพทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นของของตน
แผ่อุเบกขาเจาะจง (อโนทิสบุคคล) ในบุคคล ๗ จำพวก
การแผ่ในทิศทั้ง ๑๐ ก็มีวิธีการทำนองเดียว กันกับการแผ่เมตตานั่นเอง
นิมิต ๓ ภาวนา ๓ อานิสงส์ ๑๑ ก็เป็นเช่นเดียวกับเมตตาภาวนา
ความแตกต่างระหว่างอุเบกขาอัปปมัญญา กับ อุเบกขาบารมี
ทั้งสองอย่างนี้แม้ว่าจะมีการวางเฉยต่อสัตว์ด้วยกันก็จริง แต่อารมณ์ที่จะให้เกิดความวางเฉยนี้ต่างกัน คือ อุเบกขาอัปปมัญญา มีการวางเฉยต่อสัตว์ คือ ละความวุ่นวายที่เนื่องด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา มีสภาพเข้าถึงความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย แต่ อุเบกขาบารมี นั้น เป็นการวางเฉยในบุคคลที่กระทำดีและไม่ดีต่อตน โดยไม่มีการยินดียินร้ายแต่ประการใด คือ ผู้ที่กระทำความดี มีความเคารพนับถือ บูชาสักการะ เกื้อกูล อนุเคราะห์ สงเคราะห์ เป็นประโยชน์แก่ตนสักเท่าใด ก็คงมีจิตวางเฉยได้ และไม่ว่าผู้ใดจะทำไม่ดี มีการประทุษร้ายต่อตนสักเพียงใดก็ตาม ก็คงวางเฉยอยู่ได้เช่นกัน ในการวางเฉยทั้ง ๒ อย่างนี้ ฝ่ายบารมีประเสริฐยิ่ง การบำเพ็ญก็สำเร็จได้ยาก
จบ อุเบกขาภาวนา
สรุป อัปปมัญญา ๔
การที่อัปปมัญญามีเพียง ๔ นั้น เพราะเหตุที่จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์จากการ พยาบาท(คิดปองร้าย) วิหิงสา(การเบียดเบียน) อรติ(ความไม่ยินดี) ราคะ(ความพอใจในกามคุณ ๕) ที่มีอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย มีอยู่เพียง ๔ และการใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลายที่มีต่อกันก็เพียง ๔ เช่นกัน ฉะนั้น อัปปมัญญาจึงมี ๔ เหตุที่ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ ๔ อย่างนั้น ก็ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เอง เพราะว่าธรรมดาจิตใจของสัตว์ทั้งหลายย่อมหมกมุ่นเกี่ยวพันอยู่ด้วยเรื่องพยาบาท วิหิงสา อรติ ราคะ อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ต่างกันก็เพียงแต่ว่ากาลใดมีสิ่งใดมาก กาลใดมีสิ่งใดน้อย ดังนั้นผู้ที่มีความปรารถนาปราบจิตใจให้อยู่ในครรลองของความดีก็พยายามใช้หลักอัปปมัญญามาช่วยดังนี้
ผู้ที่มีความพยาบาทมาก ต้องทำการปราบด้วย เมตตา
ผู้ที่มีวิหิงสามาก ต้องทำการปราบด้วย กรุณา
ผู้ที่มีอรติมาก ต้องทำการปราบด้วย มุทิตา
ผู้ที่มีราคะมาก ต้องทำการปราบด้วย อุเบกขา
อนึ่ง การใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลายที่มีต่อกัน ๔ อย่าง คือ
🔘 นำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวเมตตาอย่างหนึ่ง
🔘 บำบัดปัดป้องสิ่งที่ไร้ประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวกรุณาอย่างหนึ่ง
🔘 ยินดีในความสุข ทรัพย์สินเงินทอง ของสัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นตัวมุทิตาอย่างหนึ่ง
🔘 การวางเฉยในเรื่องจะนำประโยชน์ ในเรื่องบำบัดปัดป้องสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในเรื่องยินดีในความสุขสบาย ทรัพย์สินเงินทอง ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวอุเบกขาอย่างหนึ่ง
เปรียบเหมือนมารดาที่มีบุตร ๔ คน คนหนึ่งยังเล็กอยู่ คนหนึ่งเจ็บไข้ไม่สบาย คนหนึ่งโตแล้ว คนหนึ่งประกอบการงานเลี้ยงตนเองได้แล้ว ใน ๔ คนนี้ มารดาย่อมมีจิตใจฝักใฝ่รักใคร่บำรุงเลี้ยงดูเพื่อการเจริญวัยในบุตรคนเล็ก อนึ่งมารดาย่อมฝักใฝ่ในการบำบัดความเจ็บไข้ให้แก่บุตรที่ไม่สบาย และย่อมมีความชื่นชมในความงามเป็นหนุ่มสาวของบุตรที่เจริญเติบโตแล้ว แต่มารดาย่อมไม่มีความกังวลห่วงใยคอยแนะนำพร่ำสอนแก่บุตรที่ประกอบการเลี้ยงชีพได้แล้ว
ข้อนี้ฉันใด การใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีต่อกันนั้นก็ไม่พ้นออกไปจาก ๔ อย่างนี้ ฉะนั้น อัปปมัญญาจึงมี ๔ ในอัปปมัญญา ๔ อย่างนี้ การเจริญเมตตามีประโยชน์กว้างขวางอย่างมหาศาลทั้งเป็นกำลังช่วยอุดหนุนให้ กรุณา มุทิตา อุเบกขา เกิดขึ้นง่าย
แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญบารมี คือ
๑. พระโพธิสัตว์แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ ตั้งปณิธานที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สรรพสัตว์และให้ความไม่มีภัยแก่พวกเขา เป็นการบำเพ็ญทานบารมี อย่างนี้
๒. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ท่านเหล่านั้นทำให้เกิดความพ้นทุกข์ และไม่ละทิ้งสัจจอินทรีย์ เปรียบเหมือนความสัมพันธ์ของบิดาที่มีต่อบุตรทั้งหลาย พระโพธิสัตว์บำเพ็ญศีลบารมี อย่างนี้
๓. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ท่านเหล่านั้นมีความไม่ละโมบ และเพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่ใช่บุญของสัตว์ทั้งหลาย จึงเข้าฌานและออกบวช เป็นผู้ไม่มีเรือน พระโพธิสัตว์บำเพ็ญเนกขัมมบารมี อย่างนี้
๔. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ท่านเหล่านั้นจึงใส่ใจถึงบุญและบาป รู้ความเป็นจริง คิดหาอุบายที่สะอาด กำจัดความชั่วและทำความดี พระโพธิสัตว์บำเพ็ญปัญญาบารมี อย่างนี้
๕. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ไม่ละความเพียร พากเพียรตลอดเวลา พระโพธิสัตว์บำเพ็ญวิริยบารมี อย่างนี้
๖. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ มีความอดทน และไม่โกรธเมื่อบุคคลอื่นติเตียน หรือไม่ทำร้ายพวกเขา พระโพธิสัตว์บำเพ็ญขันติบารมีอย่างนี้
๗. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ พูดคำสัตย์ ดำรงอยู่ในความสัตย์ รักษาคำสัตย์ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญสัจจบารมี อย่างนี้
๘. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ไม่ละเมิดคำสัญญา แต่รักษาคำสัญญานั้นไว้จนตลอดชีวิต พระโพธิสัตว์บำเพ็ญอธิษฐานบารมี อย่างนี้
๙. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ถือตัวเองเป็นอันเดียวกันกับสรรพสัตว์ และบำเพ็ญเมตตาบารมี อย่างนี้
๑๐. พระโพธิสัตว์ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ถือคนที่รักคนเป็นกลางและศัตรูเท่าเทียมกัน ไม่มีความโกรธและความยึดมั่น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญอุเบกขาบารมี อย่างนี้
พระโพธิสัตว์เมื่อได้แผ่เมตตาและบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้ว ก็บำเพ็ญอธิษฐาน ๔ คือ
สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน และปัญญาธิษฐา
สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และวิริยบารมี ทำให้ สัจจาธิษฐานสมบูรณ์
ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมบารมี ทำให้ จาคาธิษฐานสมบูรณ์
ขันติบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ทำให้ อุปสมาธิษฐานสมบูรณ์
ปัญญาบารมี ทำให้ ปัญญาธิษฐานสมบูรณ์
พระโพธิสัตว์เมื่อได้แผ่เมตตาและบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้ว ชื่อว่าบำเพ็ญอธิษฐาน ๔ และบรรลุธรรม๒ อย่าง คือ
สมถะและวิปัสสนา ในที่นี้ สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน และอุปสมาธิษฐานทำให้สมถะสมบูรณ์
ปัญญาธิษฐานทำให้วิปัสสนาสมบูรณ์ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมถะ พระโพธิสัตว์เหล่านั้นจึงบรรลุฌานและยึดมั่นการหลีกออกจากกาม(เนกขัมมบารมี) และมีจิตตั้งมั่นทำให้เกิดสมาธิเพื่อการแสดงยมกปาฏิหาริย์ และมหากรุณาสมาบัติ พระโพธิสัตว์เหล่านั้นบรรลุวิปัสสนา ประกอบด้วยอภิญญา ปฏิสัมภิทา พละ เวสารัชชะ หลังจากนั้นท่านเหล่านั้นก็ทำปกติญาณและสัพพัญญุตญาณให้เกิดขึ้น พระโพธิสัตว์แผ่เมตตาและบรรลุความเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตามลำดับอย่างนี้
จบ อัปปมัญญา ๔