👉กลับไปที่ อกุศล กองที่ ๑-๕
🔅 อกุศล กองที่ ๖ นีวรณ์
เป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นความดีเครื่องขัดขวางในการทำความดีมิให้เกิดกุศลต่างๆคือทาน ศีล ภาวนา ฌาน มรรค ผล อภิญญา สมาบัติและทำให้กุศลบางอย่างเช่นฌานที่เกิดอยู่แล้วทำให้เสื่อมสิ้นไปได้ บุคคลทั่วไปพอคิดจะทำกุศลสูงขึ้นก็มักจะถูกนีวรณ์ธรรมที่เรียกว่ากิเลสมารเกิดขึ้นขัดขวางมิให้กุศลธรรมเจริญก้าวหน้า เช่นเกิดความเบื่อหน่ายง่วงซึมไม่อยากจะทำความดีต่อไป
นีวรณ์ มี๖ประการคือ
๑. กามฉันทนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะความชอบใจอยากได้ในกามคุณอารมณ์ เมื่อชอบใจและต้องการในกามคุณอารมณ์แล้วก็ย่อมขาดกำลังในอันที่จะทำความดี มีฌานและมัคคผลหรือขาดศรัทธา ขาดสติปัญญา ในการบำเพ็ญทานศีลภาวนาเป็นต้น
องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิกที่ในโลภมูลจิต ๘
๒. พยาปาทนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะความไม่ชอบใจในอารมณ์ เมื่อจิตใจมีแต่ความขุ่นเคืองไม่ชอบใจแล้วก็ย่อมขาดปีติความอิ่มใจในการทำความดี คือการบำเพ็ญทานศีลภาวนา เป็นต้น
องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิกที่ในโทสมูลจิต ๒
๓. ถีนมิทธนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะความหดหู่ท้อถอยเป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านไม่อยากที่จะทําความดี เมื่อจิตใจหดหู่ท้อถอยเสียแล้วก็ย่อมขาดวิตก คือไม่มีแก่ใจที่จะนึกคิดให้ติดอยู่ในอารมณ์ที่จะกระทําความดี
องค์ธรรมได้แก่ ถีนเจตสิก มิทธเจตสิก ที่ในอกุศลสสังขาริกจิต ๕
๔. อุทธัจจกุกกุจจนีวรณ์ ขัดขวางไว้เพราะคิดฟุ้งซ่านรําคาญใจ อันเนื่องมาจากการสูญเสีย (พยสนะ ๕)คือ
๑. สูญเสียญาติ
๒. ทรัพย์สมบัติ
๓. โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
๔. ทําบาป (ทุศีล)
๕. เห็นผิดใฝ่ใจไปในทางที่เป็นบาป
เมื่อจิตใจเป็นดังนี้ก็ย่อมขาดความสุขในอันที่จะกระทําความดี
องค์ธรรมได้แก่ อุทธัจจเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒ และ กุกกุจจเจตสิก ในโทสมูล จิต ๒
๕. วิจิกิจฉานีวรณ์ ขัดขวางเพราะความสงสัย ลังเลใจ เมื่อจิตใจเกิดความลังเลสงสัยแล้ว ย่อมขาดวิจารในอันที่จะพินิจพิจารณาในการกระทําความดี
องค์ธรรมได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิก ที่ในวิจิกิจฉาสหคตจิต ๑
๖. อวิชชานีวรณ์ ขัดขวางเพราะความไม่รู้ มีการทําให้หลงลืมขาดสติ เช่น ไม่รู้แจ้งในอารมณ์ของสติปัฏฐานที่ตนกําหนดอยู่ เป็นการกั้นต่อมรรค ผล นิพพาน มิให้เกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
นีวรณ์ ๑ - ๕ (เว้น อวิชชา) ได้ชื่อว่า เป็นเครื่องกั้นฌานในการเจริญสมถภาวนา
นีวรณ์ที่ ๖ คือ อวิชชานีวรณ์ ได้ชื่อว่า เป็นเครื่องกั้น มรรค ผล นิพพาน
การประหาณ นีวรณ์
วิจิกิจฉานีวรณ์ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมรรค
กามฉันทนีวรณ์ ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
พยาปาทนีวรณ์ ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
กุกกุจจนีวรณ์ ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
ถีนมิทธนีวรณ์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อุทธัจจนีวรรณ์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อวิชชานีวรณ์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
🔅 อกุศล กองที่ ๗ อนุสัย
เป็นกิเลสอย่างละเอียด ซ่อนเร้นนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้เหตุอันสมควรแล้วก็ปรากฏขึ้นเมื่อนั้น อุปมาเสมือนตะกอนที่นอนก้นภาชนะ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบกับภาชนะ ตะกอนหรือกิเลสก็จะฟุ้งขึ้นมาทันที ทําให้จิตใจเร่าร้อนเศร้าหมอง
กิเลส มี ๓ ระดับ คือ
วีติกกมกิเลส กิเลสอย่างหยาบ ที่ก้าวล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา เมื่อมีอารมณ์มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็จะแสดงออกทางกาย ทางวาจา ทันที เหมือนน้ำที่เดือดพล่านย่อมจะดันฝาที่ปิดให้กระเด็นออกมาได้
ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสอย่างกลาง เป็นกิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจ เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นภายในใจยังไม่ปรากฏก้าวล่วงให้เห็นออกมาทางกาย ทางวาจา เปรียบเหมือนน้ำที่เริ่มร้อนขึ้น ๆ ยังไม่ถึงจุดเดือด
อนุสัยกิเลส กิเลสอย่างละเอียด เป็นกิเลสที่ซ่อนเร้นนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย
ธรรมที่ประหาณกิเลสทั้ง ๓ คือ
ศีลกุศล ประหาณ วีติกกมกิเลส
สมาธิกุศล ประหาณ ปริยุฏฐานกิเลส
ปัญญาในมัคคจิต ประหาณ อนุสัยกิเลส
อนุสัยกิเลส มี ๗ ประการ คือ
๑. กามราคานุสัย คือ ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ กามราคานุสัยนี้จะนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเรื่องราวต่าง ๆ มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งเป็นกามคุณอารมณ์แล้ว กามราคานุสัยนี้ก็จะแปรสภาพเป็น ปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสอย่างกลางคอยกลุ่มรุ่มจิตใจ มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โลภเจตสิกที่ในโลภมูลจิต ๘
๒. ภวราคานุสัย ความยินดีติดใจใน รูปภพ อรูปภพ หรือ รูปฌาน อรูปฌาน อันนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์ มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลสได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๓. ปฏิฆานุสัย ความไม่ยินดีไม่พอใจในอารมณ์ อันนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒
๔. มานานุสัย คือความทนงตน โอ้อวด ถือตัว ไม่ยอมลงให้กับใคร ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลสได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๕. ทิฏฐานุสัย คือความเห็นผิดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปร สภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลสได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่ประกอบในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
๖. วิจิกิจฉานุสัย คือความลังเลสงสัยในสิ่งที่ควรเชื่อที่ยังไม่ปลงใจเชื่อ ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่ประกอบในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑
๗. อวิชชานุสัย คือความลุ่มหลงมัวเมา ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อมีอารมณ์มากระทบก็จะแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส มูลเหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
การประหาณอนุสัย
ทิฏฐานุสัย ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
วิจิกิจฉานุสัย ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
กามราคานุสัย ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
ปฏิฆานุสัย ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
มานานุสัย ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
ภวราคานุสัย ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อวิชชานุสัย ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
🔅 อกุศล กองที่ ๘ สังโยชน์
ธรรมเหล่าใดย่อมผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า สังโยชน์ เป็นการผูกเหล่าสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในวัฏฏทุกข์ เหมือนเชือก ๑๐ เส้นที่ล่ามสัตว์ไว้กับหลักไม่ให้หลุดออกไปได้ กามคุณทั้ง ๕ นี้แหละ เป็นเรือนที่สัตว์ถูกผูกไว้
สังโยชน์ธรรม ๑๐ ประการ มีโดยสองนัย คือ
นัยที่ ๑ สังโยชน์ ๑๐ ตามนัยแห่งพระอภิธรรม
๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ใน โลภมูลจิต ๘
๒. ภวราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๓. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒
๔. มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๕. ทิฏฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
๖. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
๗. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่วิจิกิจฉาเจตสิกที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑
๘. อิสสาสังโยชน์ ได้แก่ อิสสาเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒
๙. มัจฉริยสังโยชน์ ได้แก่ มัจฉริยเจตสิกที่ในโทสมูลจิต ๒
๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
นัยที่ ๒ สังโยชน์ ๑๐ ตามนัยแห่งพระสูตร
๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ใน โลภมูลจิต ๘
๒. รูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๓. อรูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๔. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒
๕. มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๖. ทิฏฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
๗. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
๘. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่วิจิกิจฉาเจตสิก ที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑
๙. อุทธัจจสังโยชน์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
การประหาณสังโยชน์
โอรัมภาคียสังโยชน์ คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕
ทิฏฐิสังโยชน์ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
วิจิกิจฉาสังโยชน์ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
กามราคะและปฏิฆะอย่างหยาบ ถูกประหาณโดย สกทาคามิมัคคจิต
กามราคะและปฏิฆะอย่างละเอียด ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
อุทธัมภาคียสังโยชน์ คือ สังโยชน์เบื้องสูง ๕
รูปราคสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อรูปราคสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
มานสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อุทธัจจสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อวิชชาสังโยชน์ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
🔅 อกุศล กองที่ ๙ กิเลส เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายเกิดขึ้นเมื่อใดก็จะทําให้ผู้นั้นรู้สึกเดือดร้อนรําคาญใจ กิเลสเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เมื่อประกอบกับจิต จะทําให้จิตนั้นเศร้าหมองเร่าร้อน โดยปกติชีวิตประจําวันของบุคคลตั้งแต่เช้าตื่นขึ้น จนเข้านอนหลับไป กิเลสทั้งหลายก็เข้าครอบงําจิตใจได้เกือบตลอดเวลาอยู่แล้วทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น และถ้ากิเลสเกิดขึ้นในเวลาขณะใกล้ตาย ก็เป็นเครื่องบอกได้ว่าผู้นั้นจะไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ถ้าบุคคลทั้งหลายระมัดระวังมิให้กิเลสเข้าครอบงําจิตใจได้ จิตใจก็จะสบาย ปลอดโปร่ง หน้าตาผ่องใส เป็นที่สบายตาสบายใจแก่ผู้พบเห็น เมื่อตายลงก็จะไปสู่สุคติภพ
กิเลส มี ๑๐ อย่าง คือ
๑. โลภกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา โลภะ คือ ความยินดี ติดใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แล้วทําบาปอกุศลลงไป เมื่อตายลง จะนําไปเกิดเป็น เปรต อสุรกาย เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในโลภมูลจิต ๘
๒. โทสกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา โทสะ คือความโกรธความ ไม่พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ประสบ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดเป็น สัตว์นรก เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิต ๒
๓. โมหกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา โมหะ คือ ความโง่ ความ หลง ความมัวเมาใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ โมหเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๔. มานกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา มานะ คือ ความเย่อหยิ่ง ถือตนว่าดีกว่าเขา ต่ำกว่า หรือ เสมอเขาแล้วทำบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ มานเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔
๕. ทิฏฐิกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดจากเหตุผลตามความเป็นจริง แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
๖. วิจิกิจฉากิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา เพราะความลังเลสงสัยในสิ่งที่ควรเชื่อ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิก ที่ในวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑
๗. ถีนกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา ถีนะ คือ ความหดหู่ท้อ ถอยจากอารมณ์ ทําให้ไม่มีความเพียรพยายามในการทําความดี แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ ถีนเจตสิก ที่ในอกุศลสสังขาริกจิต ๕
๘. อุทธัจจกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดใน ทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
๙. อหิรีกกิเลส คือความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา เพราะความไม่ละอายต่อตนเองในการที่จะทําบาป แล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดใน ทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ อหิรีกเจตสิก ที่ให้อกุศลจิต ๑๒
๑๐. อโนตตัปปกิเลส เป็นความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรา อโนตตัปปะ คือความไม่เกรงกลัวต่อบาปและผลของบาป ไม่เกรงกลัวต่ออาญาแผ่นดินแล้วทําบาปอกุศลกรรมลงไป เมื่อตายลงจะนําไปเกิดในทุคติภูมิ เหตุแห่งกิเลส ได้แก่ อโนตตัปปเจตสิก ที่ในอกุศลจิต ๑๒
การประหาณ กิเลส
ทิฏฐิกิเลส ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
วิจิกิจฉากิเลส ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
โทสกิเลส ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
โลภกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
โมหกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
มานกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
ถีนกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อุทธัจจกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อหิริกกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
อโนตตัปปกิเลส ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต