๔.๑.๑ กายทุจริต ๓

กายทุจริต ๓
๑. ปาณาติบาต ปาณาติบาต คือ เจตนาทำให้สิ่งมีชีวิตตกไปโดยเร็ว คือ ตายไปก่อนที่จะหมดอายุ ซึ่งโดยปกติธรรมดาแล้วสัตว์มีลักษณะค่อยๆตกไป คือ ตายไปเองตามปกติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ยอมให้เป็นไปตามปกติอย่างนั้น กลับทำให้ตกไปอย่างเร็วด้วยการฆ่า ฉะนั้น กรรมที่ได้ชื่อว่าปาณาติบาตก็คือเจตนาฆ่า
องค์ประกอบของปาณาติบาต มี ๕ ประการ
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. มีจิตคิดจะฆ่า
๔. เพียรพยายามเพื่อฆ่า
๕. สัตว์นั้นตายลงเพราะความพยายามนั้น
การฆ่าสัตว์ที่ครบ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นการทำบาปที่ครบองค์ปาณาติบาต การทำให้ชีวิตของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นสูญสิ้นไป ถือเป็นบาปทั้งสิ้น ผู้ที่เคยฆ่าสัตว์เมื่อใกล้จะตายถ้าคิดถึงบาปนั้น ผลของบาปก็จะนำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ถ้าบาปนี้ไม่มีกำลังส่งผลตอนนำไปเกิด ก็จะสามารถส่งผลได้ตอนหลังจากเกิดแล้วโดยส่งผลให้ได้รับวิบากที่ไม่ดี มีการเห็นไม่ดี ได้ กลิ่นไม่ดี เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ สำเร็จได้เพราะเจตนาที่ประกอบใน🔎อกุศลจิต ๑๒ คือ 
  • โลภมูลจิต ๘ 
  • โทสมูลจิต ๒ 
  • โมหมูลจิต ๒ 
อกุศลกรรมนี้เมื่อส่งผลจะสามารถส่งผลได้ ๒ กาล คือ
๑. ส่งผลนำไปเกิด (
🔎ปฏิสนธิกาล) จะนำไปเกิดในอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
๒. ส่งผลขณะดำรงชีวิตหลังจากเกิดแล้ว (🔎ปวัตติกาล) คือส่งผลให้ ๑. ได้เห็น ๒.ได้ยิน ๓. ได้กลิ่น ๔. ได้ลิ้มรส ๕. ได้รับสัมผัส ๖. ได้รับอารมณ์ ๗. พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี

กล่าวคือจะส่งผลให้ได้รับวิบาก ที่ไม่ดี ๗ ประการนี้เป็นพื้นฐาน และภายหลังจากไปรับทุกข์โทษในอบายภูมิมาแล้ว เศษกรรมที่เหลือจะตามส่งผลในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้าฆ่าสัตว์ วิบากกรรมที่จะได้รับในปวัตติกาล คือ ถูกฆ่า ถูกทำร้าย เป็นต้น

เกณฑ์ตัดสินการฆ่าว่ามีบาปมากหรือน้อย
บาปมาก
๑. ฆ่าสัตว์ใหญ่หรือสัตว์ที่มีประโยชน์ เช่น วัว ควาย
๒. ฆ่าผู้มีคุณธรรมมาก เช่น พระสงฆ์ บิดามารดา
๓. ใช้ความพยายามในการฆ่ามาก
บาปน้อย
๑. ฆ่าสัตว์เล็ก เช่น มด ยุง ริ้น ไร 
๒. ฆ่าผู้ไม่มีคุณธรรม เช่น โจร ผู้ร้าย 
๓. ใช้ความพยายามในการฆ่าน้อย

ความพยายามในการฆ่า ทำได้ ๖ ประการ คือ
๑. ฆ่าด้วยตนเอง
๒. ใช้คนอื่นฆ่า
๓. ปล่อยอาวุธ
๔. ใช้อาวุธต่างๆ เช่น มีด ปืน ฯลฯ หรือ ขุดหลุมพราง 
๕. ใช้วิชาอาคม หรือไสยศาสตร์ต่าง ๆ 
๖. ใช้ฤทธิ์

ผลของปาณาติบาต ส่งผลในปฏิสนธิกาล คือ ส่งผลนำไปเกิด การทำบาปที่ครบองค์ประกอบของปาณาติบาตทั้ง ๕ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้ากรรมคือการฆ่านี้ส่งผลเมื่อสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล

การส่งผลในปวัตติกาล คือ ส่งผลหลังจากเกิดแล้ว คือทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับสัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีและเศษกรรมยังส่งผลทำให้อายุสั้น ซึ่งอกุศลกรรมจะตามมาส่งผลได้ตั้งแต่เกิดอยู่ท้องมารดา ทำให้ได้รับอันตราย ได้รับความวิบัติต่างๆ มารดาบิดาก็มักมีแต่โรคภัยไข้เจ็บก็ส่งผลให้บุตรที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้รับอาหารจากมารดาเท่าที่ควร ทำให้อ่อนแอมาตั้งแต่แรกเกิดก็ได้ หรือ ในเวลานั้นอาจส่งผลทำให้โภคทรัพย์ของบิดามารดาพินาศ ของกิน ของใช้ เครื่องนุ่งห่ม ขาดแคลน ทำให้การบริหารครรภ์ไม่ดี ทารกก็ขาดความสมบูรณ์ อาจจะตายตั้งแต่อยู่ใน ครรภ์ และหรือเมื่อคลอดแล้วอาหารการกินไม่สมบูรณ์ ทารกย่อมอ่อนแอ และทำให้มีอายุสั้นได้ เพราะผลแห่งการฆ่าสัตว์นั้นติดตามมาส่งผลบีบคั้นให้ย่อยยับไปตามวาระ ตามโอกาส และหรือส่งผลทำให้ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ข้อปฏิบัติเพื่อเป็นคนมีอายุยืน คือ เจตนากรรมที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จะส่งผลนำไปเกิดในเทวโลกได้ แต่หากว่าพลาดโอกาสนี้ไป บุคคลนั้นไปเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลให้ในปวัตติกาล คือ หลังจากที่บุคคล นั้นปฏิสนธิแล้ว ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องของมารดาก็ส่งผลนำความสุขมาให้ เช่น ตั้งแต่เกิดอยู่ในท้องมารดา ทั้งมารดาทั้งบิดาก็มีแต่ความสุขสำราญ อันตรายใดๆที่ปกติมีอยู่ก็ไม่เกิดขึ้น ทรัพย์ทั้งหลายก็มั่งคั่ง ไม่มีความขัดสน คน แวดล้อมทั้งหลาย มีทาสกรรมกร เป็นต้น ก็เป็นคนว่าง่าย ไม่หลีกเลี่ยงการงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ได้รับการบริหารครรภ์ที่ดี ร่างกายมีกำลังแข็งแรงมาตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อคลอดก็ได้หมอดี คลอดแล้วก็ได้อาหาร ได้ยาที่ดี คลอดแล้วก็เป็นที่ชื่นชมยินดีแก่คนทั้งหลายในตระกูลเพราะได้เห็น เขาเป็นเด็กแข็งแรง ทรวดทรงงดงามไม่พิการ นี้คือผลของการมีเจตนางดเว้นจากการฆ่า ถ้าไม่ได้ฆ่าสัตว์ แต่เบียดเบียนสัตว์ ด้วยอาวุธ ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยการกักขัง ทรมานต่างๆ เป็นต้น เช่นนี้ไม่เป็นปาณาติบาต แต่การกระทำนี้ เป็นบาปอกุศลกรรม ถ้าส่งผลในปฏิสนธิกาล ก็ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ เมื่อสิ้นกรรม จากอบาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นคนไม่แข็งแรงมีโรคภัยไข้เจ็บมาก มีอันตรายต่างๆ มีการทำให้ทรัพย์หมดไปเป็นต้น ฉะนั้นการที่จะไม่ต้องเป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บมากก็ต้องงดเว้นจากการ เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย

๒. อทินนาทาน  คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ อทินนาทานจะสำเร็จลงได้ก็ด้วยมีเจตนาในการที่จะได้ครอบครอง สิ่งของที่มีผู้หวงแหนรักษา โดยการลักขโมย ฉ้อโกง ยักยอก เบียดบัง สับเปลี่ยน ปลอมแปลง โจรกรรม เป็นต้น อนึ่ง การใช้อุบายหลอกลวงจนผู้อื่นรู้ไม่เท่าทัน จนต้องเสียผลประโยชน์ แม้ว่าผู้อื่นนั้นจะเห็นชอบยอมรับ แต่เมื่อเป็นไปด้วยเจตนาที่หลอกลวงก็เป็นอทินนาทานด้วย

มีเรื่องเล่าว่า นายพรานคนหนึ่งจับแม่เนื้อและลูกเนื้อได้ มีนักเลงคนหนึ่งถามนายพรานว่า “แม่เนื้อราคาเท่าไร ลูกเนื้อราคาเท่าไร” เขาตอบว่า “แม่เนื้อราคา ๒ เหรียญ ลูกเนื้อราคา ๑ เหรียญ” เขาก็ให้ไป ๑ เหรียญ แล้วเอาลูกเนื้อมา เขาเดินไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับมาพูดว่า “นายเอ๋ยฉันไม่ต้องการลูกเนื้อแล้วละ จงให้แม่เนื้อแก่ฉันเถิด” นายพรานจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นจงให้ ๒ เหรียญซิ” นักเลงจึงกล่าวว่า “ทีแรกฉันได้ให้ท่านไว้ ๑ เหรียญแล้วมิใช่หรือ” นายพรานก็ยอมรับว่า“ ใช่ ให้ไว้ ๑ เหรียญ แล้ว” นักเลงจึงบอกว่า “ จงรับลูกเนื้อคืนไป ลูกเนื้อตัวนี้ราคา ๑ เหรียญ และเคยให้ไว้แล้ว ๑ เหรียญ รวมกันเข้าก็เป็น ๒ เหรียญ” นายพรานได้ยินก็เข้าใจว่าเขาพูดมีเหตุผล จึงยอมรับเอาลูกเนื้อนั้นมาแล้วให้แม่เนื้อไป เป็นอันว่านักเลงผู้นั้นได้แม่ เนื้อไปโดยเสียเงินซื้อเพียง ๑ เหรียญ การยอมรับตกลงด้วย ไม่ใช่เหตุของการป้องกันไม่ให้เป็นอทินนาทาน นายพรานยอมตกลงด้วยเพราะรู้ไม่เท่าทันเจตนาเล่ห์เหลี่ยมของนักเลง ส่วนการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของหวงแหนโดยไม่มีเจตนาที่จะลักเอามา แต่ถือเอาด้วยวิสาสะ ความคุ้นเคยสนิทสนม คือว่าหยิบฉวยเอาของผู้อื่นไปบริโภคใช้สอย เพราะเห็นว่าผู้นั้นเป็นคนคุ้นเคย เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อน อย่างนี้ ไม่จัดเป็นอทินนาทาน
วิสาสะ คือ ความคุ้นเคย มี ๕ คือ
๑. เคยเห็นกันมา
๒.เคยคบหากันมา
๓.เคยบอกอนุญาต
๔. ผู้ที่ตนมีวิสาสะด้วยยังมีชีวิตอยู่ 
๕. ผู้ที่ตนจะมีวิสาสะด้วยยินดียอมรับ 

องค์ประกอบของการลักทรัพย์ มี ๕ ประการ คือ
๑. วัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
๒. รู้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์
๔. เพียรพยายามเพื่อลักทรัพย์
๕. ได้สิ่งของที่พยายามลักนั้นมา

เกณฑ์ตัดสินอทินนาทานว่าบาปมากหรือน้อย
โดยถือเอาเจ้าของทรัพย์เป็นเกณฑ์
นัยที่ ๑ เรียงตามบาปน้อยไปหาบาปมาก
เจ้าของทรัพย์ คือ
๑. ฆราวาส
๒. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๑ รูป
๓. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๒-๓ รูป
๔. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๔ รูปขึ้นไป
นัยที่ ๒ เรียงตามบาปน้อยไปหาบาปมาก
เจ้าของทรัพย์ คือ
๑. ปุถุชน
๒. พระโสดาบัน
๓. พระสกทาคามี
๔. พระอนาคามี
๕. พระอรหันต์

ความพยายามในการลักทรัพย์ ทำได้ ๖ ประการ
คือ ๑. ลักทรัพย์ด้วยตนเอง
๒. ใช้ผู้อื่นลักทรัพย์ด้วยวาจา หรือเขียนเป็นหนังสือ
๓. ทิ้งหรือโยนทรัพย์ออกไปนอกเขตเพื่อให้พวกเดียวกันรับต่อ
๔. สั่งพรรคพวกเมื่อมีโอกาสให้พยายามลักทรัพย์นั้นมา
๕. ใช้เวทย์มนต์คาถาทำให้หลงใหลแล้วลักทรัพย์
๖. ใช้ฤทธิ์ในการลักทรัพย์
ผลของการลักทรัพย์ การส่งผลในปฏิสนธิกาล (ขณะเกิด) การส่งผลในปวัตติกาล (หลังจากเกิดแล้ว) การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าอทินนาทานนี้ส่งผล จะนำเกิดในอบายภูมิเป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล(คือ นำไปเกิด) กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อบุคคลพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลอีก ทำให้เป็นคนยากจน ถ้ามีทรัพย์ก็จะพินาศเพราะ โจร น้ำ ไฟ พายุ ถูกทางการริบทรัพย์ต้อง สูญเสียทรัพย์

๓. กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม หมายถึงการประพฤติชั่วที่คนดีทั้งหลายรังเกียจและติเตียน คำว่า “กาม” หมายถึง เมถุนธรรม เป็นการกระทำของคนคู่หญิงกับชาย ด้วยความกำหนัด คือการร่วมประเวณี การประพฤติร่วมประเวณีที่ผิดศีลก็มีองค์ประกอบ ๔ องค์ประกอบของการประพฤติผิดในกาม ๔ ประการ คือ
๑. มีวัตถุที่ไม่ควรเสพ ได้แก่ หญิง ๒๐ จำพวก
๒. มีจิตคิดจะส้องเสพในวัตถุอันไม่ควรนั้น
๓. มีความพยายามในการส้องเสพ
๔. มีการทำมรรคให้จรดถึงกัน มรรคในที่นี้หมายถึงอวัยวะเพศ คือ ทำอวัยวะเพศให้จรดถึงกัน เนื่องจากเป็นการกระทำของคนคู่ จึงแสดงสิ่งที่เป็นวัตถุที่ไม่ ควรเกี่ยวข้องได้แก่หญิง ๒๐ จำพวก ไว้เป็นลำดับแรก การร่วมประเวณีจะสำเร็จได้ก็เพราะฝ่ายชายไม่ใช่ฝ่ายหญิง เพราะเหตุนี้ฝ่ายชายจึงมีโอกาสทำผิดศีลข้อ ๓ นี้ได้ง่าย เพราะฉะนั้นท่านจึงวางองค์แห่งการวินิจฉัยการกระทำของฝ่ายชายไว้ก่อนว่าวัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้องได้แก่หญิง ๒๐ จำพวก หลังจากนั้นจึงจะวินิจฉัยการกระทำของฝ่ายหญิงต่อไปได้
หญิง ๒๐ จำพวกที่ชายไม่ควรเกี่ยวข้อง มีดังนี้
หญิงที่ยังไม่มีสามี มี ๑๐ จำพวก คือ
๑. หญิงที่มีมารดารักษา คือมีมารดาปกครองดูแล
๒. หญิงที่มีบิดารักษา คือมีบิดาปกครองดูแล
๓. หญิงที่มีทั้งมารดาทั้งบิดารักษา
๔. หญิงที่พี่น้องชายรักษา
๕. หญิงที่พี่น้องหญิงรักษา
๖. หญิงที่ญาติรักษา
๗. หญิงที่โคตรคือวงศ์สกุลรักษา
๘. หญิงที่ธรรมรักษา (หญิงที่บวช ประพฤติธรรม)
๙. หญิงที่รับหมั้นชายแล้ว
๑๐. หญิงที่มีกฎหมายรักษา (คือ หญิงที่ทางบ้านเมืองออกกฎประกาศให้ทราบว่า หญิงนี้ชายใดล่วงล้ำ ชายนั้นจะถูกลงโทษ เพื่อเตรียมไว้สำหรับคัดเลือกในสำนักพระราชา หรือเพื่อพระราชพิธีที่มีหญิงพรหมจารีเป็นองค์ประกอบ เป็นต้น)
 
หญิงที่มีสามีแล้ว มี ๑๐ จำพวก คือ 
๑. หญิงที่เขาใช้ทรัพย์ซื้อมาเพื่อเป็นภรรยา 
๒. หญิงที่อยู่เป็นภรรยากับชายที่ตนมีความพอใจ 
๓. หญิงที่อยู่กับชายเพราะทรัพย์ เป็นเหตุ (เช่น ยอมเป็นภรรยาเพื่อปลดหนี้ เป็นต้น) 
๔. หญิงที่อยู่กับชายเพราะผ้าเป็นเหตุ (คือ ยอมเป็นภรรยาเพราะเห็น แก่ผ้า เครื่องประดับ ยานพาหนะ ที่พึงได้รับ เป็นต้น) 
๕. หญิงที่ญาติทั้ง ๒ ฝ่ายกำหนดให้จุ่มมือลงไปใน ภาชนะใส่น้ำ แล้วสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกัน 
๖. หญิงที่ชายปลดปล่อยจากความเป็นทาสแล้วแต่งตั้งให้เป็นภรรยา 
๗. หญิงที่เป็นทั้งทาส ทั้งภรรยา 
๘. หญิงที่เป็นทั้งคนรับจ้างทำงานอยู่ในเรือน เป็น ทั้งภรรยาด้วย 
๙. หญิงเชลย 
๑๐. หญิงที่ชายอยู่ร่วมชั่วคราว ๑๐  (เมียเช่าชั่วคราว หรือแม้หญิงโสเภณีผู้ที่อยู่ในระหว่างเวลาที่ชายอื่นจองตัวอยู่กันชั่วคราว)

การที่ฝ่ายชายจะผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารพิจารณาดังนี้ คือ ชายไปเกี่ยวข้องล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กับหญิงทั้ง ๒๐ จำพวกนี้ ชายนั้นได้ชื่อว่าประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร กล่าวคือ ในกลุ่มหญิงที่ยังไม่มีสามีลำดับที่ ๑-๘ ถ้าชายไปเกี่ยวข้องด้วยโดยที่ผู้ปกครองของหญิงไม่ยินยอมด้วย กรณีนี้ฝ่ายชายเท่านั้นที่ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ฝ่ายหญิงไม่ผิด และสำหรับหญิงที่ยังไม่มีสามีในลำดับที่ ๙ หญิงที่รับหมั้นชายแล้ว ๑๐. หญิงที่มีกฎหมายรักษา ทั้ง ๒ นี้ ถ้าชายอื่นที่ไม่ได้เป็นคู้หมั่น เป็นต้น ล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กรณีนี้ฝ่ายหญิงพร้อมชายอื่นนั้นก็ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารด้วยกันทั้งคู่

ลำดับต่อมา คือ หญิงที่มีสามีแล้ว ได้แก่หญิง ๑๐ จำพวกหลัง ถ้าชายอื่นที่ไม่ใช่สามีเกี่ยวข้องล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กรณีนี้ฝ่ายหญิงพร้อมชายอื่นนั้นก็ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารด้วยกันทั้งคู่ ในปัจจุบันนี้หญิงบางจำพวกไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว เช่น หญิงเชลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าหญิงที่เหลือจะมีกี่จำพวกก็ตาม ก็สามารถย่อเหลือ ๒ จำพวก คือ
๑. หญิงที่มีเจ้าของในฐานะผู้ปกครองดูแล มีเจ้าของในฐานะผู้ปกครองดูแล ได้แก่ หญิงที่มี มารดารักษา เป็นต้น อาจจะเป็นหญิงที่เป็นบุตรสาว หลานสาว ที่อยู่ในความปกครองของมารดา บิดา พี่น้อง ญาติ และหญิงที่อยู่ในความดูแลของสำนัก นักบวช เป็นการดูแลให้การเลี้ยงดูให้เติบโต อบรมสั่งสอน ส่งเสริมให้ได้รับความรู้เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของสัมผัส คือไม่ได้ถือสิทธิในการจะเสพกาม สุขที่เกิดจากการได้สัมผัส ชายที่ละเมิดล่วงเกินเกี่ยวกับการร่วมประเวณีในหญิงเหล่านี้ย่อมเป็นกาเมสุมิจฉาจารได้ แต่สำหรับฝ่ายหญิงถ้ายินยอม พร้อมใจด้วยก็ไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร เพราะว่าหญิงนั้นมีผู้ดูแลก็จริง แต่ไม่ใช่มีเจ้าของสัมผัส หญิงจำพวกนี้มีสิทธิที่จะมอบสัมผัสนั้นแก่ชายใดก็ได้ ฉะนั้นจึงไม่ชื่อว่าทำผิด สรุปว่า ถ้าชายไปล่วงเกิน ชายนั้นก็ผิดศีลฝ่ายเดียว

๒.หญิงที่มีเจ้าของในฐานะเจ้าของสัมผัส หญิงจำพวกที่ ๒ มีเจ้าของในฐานะเจ้าของสัมผัส ได้แก่ หญิงที่เป็นภรรยาทั้งหลาย และหญิงที่มีคู่หมั้นด้วย หญิงที่เป็นภรรยาก็มีสามีของตน เป็นเจ้าของสัมผัส ส่วนหญิงที่มีคู่หมั้นแล้วก็เท่ากับยอมรับความจะเป็น ภรรยาเขา ถ้าชายอื่นใดละเมิดในหญิงเหล่านี้ ชายนั้นก็ชื่อว่ากระทำกาเมสุมิจฉาจาร ส่วนฝ่ายหญิงถ้ามีความยินยอมพร้อมใจก็ชื่อว่าทำกรรมชั่ว ข้อนี้ร่วมกัน เพราะว่ามอบสมบัติคือสัมผัสอันผู้เป็นเจ้าของคือสามีของตนเท่านั้นถือสิทธิอยู่ให้แก่ชายอื่น
สรุปว่า ผิดทั้งคู่

ผลของกาเมสุมิจฉาจาร การส่งผลในปฏิสนธิกาล การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าการประพฤติผิดในกามเช่นนี้ส่งผลเมื่อสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ การส่งผลในปวัตติกาล ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลได้อีก กาเมสุมิจฉาจารนี้เป็นการกระทำของคนขลาด ลักลอบ ทำอย่างปิดบัง หลบๆ ซ่อนๆ นี้เองจึงส่งผลให้เป็นผู้ที่ไม่องอาจผ่าเผย มีจิตใจไม่อาจหาญ และสามารถส่งผลให้เกิดมาเป็นหญิง เป็นกะเทย เป็นคนวิปริตผิดเพศ 

การงดเว้นบาปอกุศลข้อกาเมสุมิจฉาจารได้ ผลบุญก็ย่อมปรากฏ คือ เป็นผู้มีกำลังใจอาจหาญ กล้าแข็ง ชนะใจตนเองได้อยู่เสมอ และเพราะเหตุที่ละเว้นจากการกระทำผิดเกี่ยวกับทางเพศ เมื่อเกิดในภพใดๆ ก็เป็นผู้มีเพศอุดม คือเกิดเป็นบุรุษ เมื่อเป็นคนไม่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ก็แสดงว่าเป็นคนจิตใจประณีต สะอาด จึงเป็นเหตุให้เป็นคนมีความเฉียบแหลม ละเอียดอ่อน และเพราะไม่กระทำกรรมในที่ลับ จึงส่งผลทำให้เป็นผู้ที่มีความอาจหาญในท่ามกลางคนทั้งปวง ไม่ตกต่ำ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏได้ง่าย และ เพราะเหตุที่เป็นคนไม่มักมากในเมถุนโดยการเที่ยวแสวงหาหญิงอื่น เพราะกลัวผิดศีลจะมัวหมองนั่นเอง หากมีคู่ครอง คู่ครองก็จะซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่นอกใจ เป็นต้น

ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เมื่อเทียบกับศีล ๕ แล้ว ก็จะขาดศีล ข้อ ๕ คือ สุราเมรัยในหมวดอกุศลกรรมบถจัดอนุโลมสุราเมรัยเข้าในข้อ กาเมสุมิจฉาจาร เพราะการดื่มสุรานั้นเป็นการติดในรส คือ พอใจในรสความมัวเมาของสุรานั่นเอง เมื่อจะกล่าวถึงโทษของการดื่มสุราเมรัยนั้นมีมากมาย เพราะเมื่อดื่ม แล้วทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ย่อมจะทำอกุศลกรรมได้ทุกอย่าง ย่อมจะนำไปสู่อบายภูมิ เมื่อสิ้นกรรมจากอบายภูมิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เศษกรรม นั้นยังส่งผลให้เป็นคนปัญญาอ่อน เป็นคนบ้า


วิกิ

ผลการค้นหา