๔.๒.๑ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ คือ วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งบุญกุศล บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แสดงไว้ ๒ นัย โดยนัยแห่งพระสูตร และ โดยนัยแห่งพระอภิธรรรม

นัยพระสูตร แสดงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่เกิดทางทวาร ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร ทวารละ ๑๐ ประการ เช่น การให้ทาน เกิดได้ ๓ ทวาร บุญกิริยวัตถุมี ๑๐ เกิดได้ ๓ ทวาร จึงได้เป็น ๓๐
นัยพระอภิธรรม แสดงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. ทาน (การให้ทาน) 
๒. ศีล (การรักษาศีล) 
๓. ภาวนา (การเจริญภาวนา) 
๔. อปจายนะ (การอ่อนน้อมถ่อมตน) 
๕. เวยยาวัจจะ (การช่วยงานกุศล) 
๖. ปัตติทาน (การอุทิศส่วนกุศล) 
๗. ปัตตานุโมทนา (การอนุโมทนากุศล) 
๘. ธัมมัสสวนะ (การฟังธรรม)
๙. ธัมมเทศนา (การแสดงธรรม) 
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม (การทำความเห็นให้ตรงกับความจริง) 

บุญกิริยาวัตถุ ๑. ทาน
ทาน คือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ ลักษณะของทานมี ๔ ประการ คือ
    ๑. เป็นการให้แก่ผู้อื่น
    ๒. เป็นการทำลายความโลภออกจากตัว
    ๓. ผลของทานจะให้ความสมบูรณ์พูนสุขในการเวียนเกิด เวียนตาย จนถึงนิพพาน
    ๔. เกิดขึ้นจากศรัทธาเห็นประโยชน์ของทานก่อน การทำทาน จึง    เกิดขึ้น

คำว่า “ ทาน” มุ่งหมายที่เจตนา ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบในมหากุศลจิต ๘ อันเป็นเหตุให้เกิดการทำทาน เจตนาทานมี ๓ ประการ คือ
    ๑. ปุพพเจตนาทาน คือ เจตนาก่อนให้ทาน
    ๒. มุญจเจตนาทาน คือ เจตนาขณะให้ทาน
    ๓. อปรเจตนาทาน คือ เจตนาหลังจากให้ทาน

เจตนาก่อนให้ ขณะให้ หลังจากที่ให้แล้ว ต้องให้ทานโดยความไม่โลภ ไม่โกรธ และ ไม่หลง เข้ามาแวดล้อมมาคั่นในระหว่างกาลทั้ง ๓ ทาน ชนิดนี้ย่อมจะได้อานิสงส์มาก แต่ถ้าการให้ทานในคราวใดมีอกุศลมา แวดล้อมมาคั่นในระหว่างกาลทั้ง ๓ ทานชนิดนี้ย่อมให้ผลอานิสงส์น้อย ส่งผลต่างกันโดยชาติ โดยสกุล โดยฐานะ ทรัพย์สมบัติ บริวารบ้าง ที่เป็น เช่นนี้เพราะเนื่องมาจากทาน ศีล ภาวนา ที่ถึงพร้อมด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล หรือไม่พร้อมทั้ง ๓ กาล ขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่มีความตั้งใจเจตนาเลยนั้นเองเป็นเหตุด้วย เหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกล่าวโดยมีใจความว่า “จงมีความยินดีก่อนที่จะทำ จงยังความเลื่อมใสในขณะที่กำลังทำ เมื่อทำเสร็จแล้วจงยังความปลื้มใจให้เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งใจที่มีอาการทั้ง ๓ ดังนี้ เป็นการทำบุญที่สมบูรณ์ที่สุด

วัตถุทาน สิ่งที่นำมาให้ทานหรือเรียกว่า วัตถุทาน มี ๓ คือ 
    ๑. ปัจจัย ๔ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค)
    ๒.อารมณ์ ๖ (รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันทารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์และธัมมารมณ์)
    ๓. ทานวัตถุ ๑๐ ( ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ได้แก่ รองเท้า ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย เครื่องตามประทีป ได้แก่ ไฟฟ้า ตะเกียง น้ำมัน เชื้อเพลิง) ตัวอย่างเช่น การถวายดอกไม้ ในขณะนั้นดอกไม้ก็เป็นหนึ่งในทาน วัตถุ และกลิ่นของดอกไม้ก็จัดเป็นการให้คันทารมณ์ด้วย หรือการถวาย น้ำมันตะไคร้หอมสำหรับทากันยุง ตัวตะไคร้หอมจัดเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ คือ เป็นยา ส่วนกลิ่นของตะไคร้หอมทำให้ยุงไม่มารบกวน ก็จัดว่ากลิ่นนั้นทำให้ ส่งผลทำให้โผฏฐัพพารมณ์ที่ดีต่อผู้ใช้ด้วย ลักษณะการให้ทานของสัปบุรุษ สัปบุรุษ คือ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในธรรม ตั้งอยู่ในทาน ศีล ภาวนา เมื่อบุคคลเหล่านี้จะให้ทาน ย่อมให้ด้วยความเข้าใจในทาน ทานของสัปบุรุษ นี้ได้ชื่อว่า สัปปุริสทาน มี ๕ ประการ คือ 

สัปปุริสทาน ๕ 
๑. สัทธาทาน คือ บริจาคทานโดยความเลื่อมใส เชื่อในการกระทำและผลของการกระทำนั้น ผลภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ มีรูปร่างสัณฐานงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่ง 
๒. สักกัจจทาน คือ บริจาคทานโดยความเคารพ กระทำด้วยตนเอง ไทยธรรมนั้นสะอาดหมดจด ผลในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ บุตร ภรรยา สามี บริวาร เชื่อฟังเอาอกเอาใจ 
๓. กาลทาน คือ บริจาคทานเหมาะสมแก่เวลา ในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ ได้ลาภสักการะเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่วัยหนุ่มสาว
๔. อนุคคหิตทาน คือ บริจาคทานโดยการสละอย่างแท้จริง ไม่มีความเสียดายในวัตถุทานนั้น ๆ ในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ จิตใจอิ่มเอิบอยู่กับการเสวยความสุข 
๕. อนุปหัจจทาน คือ บริจาคทานโดยไม่กระทบกระเทือนตนเองและผู้อื่น ในภพต่อๆไป จะเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์ ทรัพย์สินพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง 

การให้ทานย่อมยังผลมากอานิสงส์มากแก่ผู้ให้ มีตัวอย่างมากมายใน คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และตัวอย่างที่เราพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ผลอานิสงส์ของการให้ทาน ให้ผลได้ทั้งในชาตินี้หรือส่งผลในภพต่อไป และผลอานิสงส์อย่างยิ่ง คือ เป็นปัจจัยทำให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้นได้

บุญกิริยาวัตถุ ๒. ศีล
ศีล คือ ธรรมชาติที่ทำให้กาย วาจาตั้งไว้ด้วยดี ศีลนั้นมีหน้าที่รักษา กาย วาจา ไม่ให้เป็นไปในทางทุจริต อีกความหมายหนึ่ง ศีล คือ ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งกุศลธรรม ได้แก่ สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ เรื่องศีลเน้นอยู่ที่ กาย กับ วาจา ไม่ให้กระทำทุจริตกรรม เรื่องศีลมีแสดงไว้หลายหมวดหลายนัย ฉะนั้น จะนำมาแสดงไว้โดยสังเขป ๓ ส่วน คือ  
 
ส่วนที่ ๑. ศีล ๔ ประเภท
    ๑. ภิกขุศีล คือ ศีลของพระภิกษุ มี ๒๒๗ ข้อ ที่ได้แสดงไว้ในภิกขุปาติโมกข์
    ๒. ภิกขุนีศีล คือ ศีลของภิกษุณี มี ๓๑๑ ข้อ ที่ได้แสดงไว้ในภิกขุนีปาติโมกข์
    ๓. สามเณรศีล คือ ศีลของสามเณร มี ๑๐ ข้อ
    ๔. คฤหัสถศีล คือ ศีลของผู้ครองเรือน ได้แก่ ศีล ๕ ๒. นิจศีล และ อนิจศีล

ส่วนที่ ๒ นิจศีล และ อนิจศีล 
    ๒.๑ นิจศีล หรือ เรียกอีกอย่างว่า วาริตตศีล คือ ศีลที่สมาทานครั้ง เดียวแล้วรักษาตลอดไปเป็นนิตย์ไม่ต้องสมาทานอีก แต่เมื่อสมาทานไว้แล้ว ถ้าไม่รักษาย่อมจะมีโทษ ได้แก่ ศีลของพระภิกษุ ๒๒๗ ศีลของภิก ษุณี ๓๑๑ ศีลของสามเณร ๑๐ สำหรับ ศีล ๕ จัดว่าเป็นนิจศีลของคฤหัสถ์ทั้งหลายที่จะต้องรักษา แต่ การรักษาต้องสมาทาน เมื่อสมาทานแล้วไม่รักษา ทำให้ศีลขาดก็เป็นโทษ คือ เป็นบาป และถึงแม้ว่าไม่ได้สมาทานศีล ๕ ถ้ามีการทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ เป็นโทษเป็นบาปเช่นกัน
    ๒.๒ อนิจศีล หรือ เรียกอีกอย่างว่า จาริตตศีล คือ ศีลที่ต้องสมาทาน คือ ขอรับมาเพื่อรักษา แต่ถ้าไม่ต้องการรักษาก็ไม่ต้องสมาทาน ได้แก่ ศีล ของฆราวาส คือ ศีล ๘ , อุโบสถศีล และการประพฤติธุดงค์ ๑๓ ข้อ ของพระภิกษุ สามเณร ศีลกลุ่มนี้จะรักษาก็ได้ หรือไม่รักษาก็ได้ หมายความว่า ถ้าต้องการประพฤติเพื่อขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นก็สมาทานไว้เพื่อประพฤติขัดเกลากิเลส ถ้ารักษาได้ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เป็นบุญ ถ้าไม่ต้องการรักษาก็ไม่มีโทษแต่อย่างใด
ส่วนที่ ๓ อาชีวัฏฐมกศีล
อาชีวัฏฐมกศีล เป็นศีล ๘ อีกประเภทหนึ่งเป็นศีลที่ยิ่งด้วยการประพฤติ เพื่อความสำเร็จในมรรค เป็นสิ่งที่จะต้องประพฤติให้บริสุทธิ์ในขั้นต้นของการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อาชีวัฏฐมกศีล จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเจริญกุศลธรรมให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความเจริญยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และก็ยังเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพที่ยังต้องรับประทานอาหารมื้อเย็น

ความแตกต่างระหว่างอุโบสถศีล และ อาชีวัฏฐมกศีล 

อุโบสถศีล คือ ศีลเพื่อการรักษาระเบียบทางกาย วาจา 
๑.เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลักทรัพย์
๓. เว้นจากการก้าวล่วงในพรหมจรรย์
๔.เว้นจากการพูดเท็จ
๕.เว้นจากการดื่มสุราเมรัย
๖.เว้นจากการรับประทานอาหารในยามวิกาล
๗.เว้นจากการตบแต่งเครื่องหอม เครื่องย้อม เครื่องทา
๘. เว้นจากการนอน บน ที่นอนอันสูง ใหญ่ 

อาชีวัฏฐมกศีล คือ ศีลที่ประพฤติให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น นำไปสู่การดำเนินตามทางมรรคมีองค์ ๘ 
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เว้นจากการลักทรัพย์ (สัมมากัมมันตะ) 
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด
๖. เว้นจากการพูดคำหยาบ
๗.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. เว้นจากการประกอบอาชีพที่ขัดต่อการเจริญธรรม (สัมมาอาชีวะ)

อาชีพที่ควรงดเว้น คือ
๑. ค้าเนื้อสัตว์ และสัตว์มีชีวิต
๒. ค้ามนุษย์
๓. ค้าอาวุธ
๔. ค้ายาพิษ
๕. ค้าสุรา 

คุณลักษณะและประโยชน์ของศีล 

๑. เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง อุปมาเสมือนแผ่นดิน ย่อมเป็นที่ตั้งของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต
๒. มีการไม่กระทำในสิ่งที่ผิดศีล เหมือนกับคนไข้ย่อมไม่รับประทานของที่แสลงโรค
๓. มีกาย วาจา ที่บริสุทธิ์ คือ ไม่ทำบาป ด้วยกาย วาจา
๔. มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) เป็นต้นเหตุทำ ให้เกิดศีล
๕. ความไม่โกรธ (อโทสะ) ความไม่ประทุษร้ายจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการรักษาศีล
๖. ย่อมเป็นอุปนิสัยให้ได้มรรคเบื้องต่ำ ๓ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค เมื่อ เป็นมหากุศลที่มีทาน ศีล รองรับแล้ว จะเป็นอุปนิสัยต่ออรหัตตมรรค อรหัตตผล 

บุญกิริยาวัตถุ ๓. ภาวนา
ภาวนา คือ การทำกุศลอันประเสริฐให้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือ ธรรมชาติใด ที่ทำให้กุศลที่ประเสริฐเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแล้วทำให้เจริญขึ้น
ภาวนา แบ่ง ออกเป็น ๒ อย่าง คือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สำหรับคำว่า ภาวนาในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ หมายถึงมหากุศลจิตอย่าง เดียว ได้แก่ การทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เช่น การเรียน การสอนธรรมะ ตลอดจนการพิจารณาใคร่ครวญธรรมะต่างๆ จัดเข้าเป็นภาวนา ในบุญกิริยาวัตถุทั้งสิ้น

คุณลักษณะและประโยชน์ของภาวนา
๑. ทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น จนถึงอรหัตตมรรคและอรหัตตผล เหมือนน้ำย่อมทำให้พืชพันธุ์เจริญงอกงาม จนกระทั่งผลิดอกออกผล
๒. มีการประหาณทำลายบาปอกุศลที่เกิดขึ้น เหมือนเครื่องตัดหรือ เครื่องประหาร
๓. เป็นสื่อนำเข้าสู่การเจริญสติปัฏฐานรูปนาม ให้ถึงซึ่งโลกุตตรธรรม
๔. มีการใส่ใจในอารมณ์ที่ถูกที่ควรไว้ก่อน ภาวนากุศลจึงจะเกิดขึ้นได้ 

บุญกิริยาวัตถุ ๔. อปจายนะ
อปจายนะ คือ การเคารพนอบน้อมต่อบุคคลที่ควรเคารพนอบน้อม โดยมิได้หวังผลใดๆ ไม่หวังใน ลาภ ยศ สักการะแต่อย่างใด ถ้าการเคารพนอบน้อมโดยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็น อปจายนะ แต่ เป็นมารยาสาไถย
  
อปจายนะ มี ๒ อย่าง คือ
๑. สามัญอปจายนะ คือ การแสดงความเคารพนอบน้อมต่อ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์ ซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องให้ความ เคารพนอบน้อมต่อท่าน เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่เป็นครูอาจารย์
๒. วิเสสอปจายนะ คือ การแสดงความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัย ด้วยการระลึกถึงพระคุณ พระพุทธคุณต่างๆ ในพระปัญญาคุณ พระอรหันตคุณ พระมหากรุณาธิคุณ เป็นต้น

บุคคลที่ควรเคารพนอบน้อม มี ๓ ประเภท
๑. คุณวุฒิบุคคล คือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เป็นผู้มีศีลมีธรรม
๒. วัยวุฒิบุคคล คือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เป็นผู้มีอายุ มากกว่าเรา
๓. ชาติวุฒิบุคคล คือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เป็นผู้มีชาติ ตระกูลสูง หรือวงศ์สกุลสูง

วุฒิทั้ง ๓ ประเภท ดังกล่าวนั้น ผู้มีวุฒิครบทั้ง ๓ ประเภท เช่น พระมหากษัตริย์ แต่บุคคลทั่วไปบางคนมีคุณวุฒิมากกว่าแต่เขามีวัยวุฒิน้อย กว่า เราก็ควรแสดงความอ่อนน้อม ถ้าทำได้ก็จัดว่าเป็นบุญ 

อานิสงส์ของการเคารพนอบน้อม
๑. ทำให้เป็นผู้มีความรู้ ความฉลาดในธรรม
๒. มีอายุยืน และมีผิวพรรณงดงาม
๓. มีความสุขกายสุขใจ
๔. มีเกียรติยศชื่อเสียง
๕. มีกำลังกายและกำลังปัญญา
๖. เมื่อจากโลกนี้ย่อมไปสู่สุคติ

บุญกิริยาวัตถุ ๕. เวยยาวัจจะ
เวยยาวัจจะ คือการขวนขวายในบุญ ได้แก่ การช่วยเหลือในกิจการ งานที่เกี่ยวกับกุศลต่างๆ หรือ การช่วยเหลือทำการงานต่างๆ ที่ไม่มีโทษ เช่น งานด้านปริยัติ ด้านปฏิบัติ หรือการปฏิสังขรณ์ การทำความสะอาดวัด ปู
ชนียสถาน หรือการงานทางโลกที่ไม่มีโทษ เช่น งานของบิดา มารดา ครู อาจารย์ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บุตร ธิดา จัดเข้าเป็นเวยยาวัจจะได้

บุญกิริยาวัตถุ ๖. ปัตติทาน
ปัตติทาน คือ การอุทิศส่วนบุญกุศล เป็นการให้ส่วนบุญกุศลที่ตนได้ กระทำสำเร็จแล้วให้กับบิดา มารดา ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว องค์ธรรมได้แก่ เจตนาที่ในมหากุศลจิตที่เกิดขึ้น ในขณะที่ตั้งใจอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำแล้วมีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

วิธีการอุทิศส่วนบุญกุศล คือ เมื่อขณะบุญต่างๆ ของเราสำเร็จแล้ว ก็ตั้งเจตนาน้อมระลึกถึงบุญกุศลนั้นแล้วน้อมใจอุทิศขอให้บุญจงสำเร็จแก่บุคคลที่
ล่วงลับไปแล้ว จะอุทิศให้อย่างเจาะจงผู้รับหรืออุทิศให้อย่างไม่เจาะจงผู้รับก็ได้ จะกรวดน้ำ หรือไม่มีน้ำก็ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่เจตนาที่มีจิตคิดจะอุทิศบุญ เมื่อได้อุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็มิใช่ว่าผลบุญนั้นจะลดน้อยถอยลง หรือหมดไปไม่ มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ อุปมาเหมือนการต่อแสงเทียนไปเรื่อยๆเป็นร้อยเป็นพันเล่ม แสงเทียนที่เทียนเล่มแรกก็ยังไม่ดับหรือหมดไป แต่แสงเทียนที่เกิดจากการต่อเทียนไปเป็นจำนวนมากกลับจะทำให้เกิดความสว่างไสวยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับบุญที่อุทิศให้ไปไม่ทำให้ต้นบุญเดิมลดลง แต่ทำให้บุญเกิดขึ้นเพิ่มพูนมากขึ้น

การอุทิศบุญกุศลกับการแผ่เมตตา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
การอุทิศส่วนกุศล คือการอุทิศบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว - ถ้าต้องการให้ผู้ที่ตายไปแล้วได้รับบุญที่เราได้ทำแล้ว ก็ทำได้โดยเมื่อทำบุญสำเร็จแล้วก็บุญกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว อย่างนี้เรียกว่า การอุทิศบุญ หรือ ปัตติทาน

บุญจะเกิดกับญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยการปัตตานุโมทนา - ถ้าต้องการให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้มีส่วนในบุญที่เราได้ทำแล้ว ก็ทำได้โดยการบอกกล่าวให้เขาเหล่านั้นทราบถึงบุญ เมื่อเขามีความยินดีในบุญ และกล่าวอนุโมทนาด้วย บุญนั้นก็สำเร็จแก่เขา ฉะนั้นถ้าต้องการให้บุคคลที่รักที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับบุญ ก็ต้องให้เขาได้รู้และได้อนุโมทนาคือมีจิตยินดีใน บุญ

การแผ่เมตตาจะทำอย่างไร การแผ่เมตตา คือ มีความรักให้สัตว์ทั้งหลาย และเมตตาจะเกิดขึ้นได้ นั้นจะต้องเจาะจงกับสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ การแผ่เมตตาไปในบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วไม่มีผล สำหรับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ควรทำในเรื่องการอุทิศบุญ เมื่อทราบว่าการอุทิศบุญทำอย่างไรกับบุคคลใด และการแผ่เมตตาควร ปฏิบัติอย่างไรกับบุคคลใดแล้ว ต่อไปจะได้กระทำได้ถูกต้อง

บุญกิริยาวัตถุ ๗. ปัตตานุโมทนา 

ปัตตานุโมทนา คือ การน้อมรับส่วนบุญที่บุคคลอื่นอุทิศให้ หรือ เรียกว่าอนุโมทนาในส่วนบุญก็ได้ บุญกุศลทั้งหลายที่ได้ทำแล้วอุทิศให้แก่คนอื่นๆ จะโดยกล่าวให้ด้วยวาจาหรือเขียนเป็นตัวอักษรก็ตาม จิตของผู้รับเกิดความโสมนัสขึ้นแล้วด้วยและกล่าวคำว่า “สาธุ” ย่อมสำเร็จเป็นกุศล หรือ การยินดีในบุญที่บุคคลอื่นได้ทำสำเร็จแล้ว เช่น เห็นบุคคลอื่นกำลังทำบุญกุศล เห็นปูชนียสถานที่เป็นวัตถุก่อสร้างจารึกชื่อผู้สร้างอุทิศถวายแล้วก็อนุโมทนาบุญกับเขา ก็เป็นปัตตานุโมทนา เป็นบุญแล้ว

ตัวอย่าง พระเจ้าพิมพิสารสร้างวัดเวฬุวันถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรตซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้พากันส่งเสียงร้องโหยหวน เพราะพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้ทรงแผ่ส่วนบุญไปให้ พระพุทธองค์จึงทรงแนะให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญกุศลไปยังเปรตทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเปรตเหล่านั้นได้อนุโมทนาในบุญของพระเจ้าพิมพิสารแล้วก็พ้นจากความเป็นเปรต

บุญกิริยาวัตถุ ๘. ธัมมัสสวนะ
ธัมมัสสวนะ คือ การฟังพระธรรม พระธรรมหมายถึง พระสัทธรรม คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะที่เป็นการคิดขึ้นมาเองของครูอาจารย์ ธรรมะนั้นไม่ใช่สัทธรรม คือไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า การฟังธรรมที่แย้งและย้อนต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ชื่อว่าธัมมัสสวนะ ไม่เป็นบุญ ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นเหตุให้เกิดบาปอกุศล เพราะธรรมที่ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมเจริญ แต่กลับเป็นเหตุให้อกุศลเจริญ เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ประพฤติผิด ปฏิบัติผิด

ตัวอย่างเช่น การฟังธรรมที่ผู้สอนบอกว่า ถ้ายิ่งทำบุญด้วยเงินจำนวนมากเท่าไร ผลแห่งบุญก็ยิ่งจะมากเท่านั้น ผลบุญนั้นจะส่งได้เร็วขึ้นตามจำนวนเงินที่ทำ นี้เป็นอสัทธรรม ฟังแล้วไม่เป็นบุญ แต่เป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้น คือ เมื่อเชื่อเช่นนั้นก็เกิดความโลภ หวังผลบุญที่จะได้รับ ยิ่งทำบุญด้วยเจตนาที่ผิด 

ส่วนการฟังธรรมที่ผู้สอนกล่าวเรื่องบุญว่า บุญคือเจตนาที่เป็นกุศล การทำบุญทำได้หลายอย่าง เช่น การให้ทานเป็นการสละ เป็นการขัดเกลากิเลส คือ ความโลภ เป็นการขัดเกลามัจฉริยะ คือความหวงแหน การให้ทานต้องมีเจตนาที่ดีทั้ง ๓ กาล ให้แล้ว ไม่หวังผลตอบแทน เพราะเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อทำเหตุดี ผลย่อม ดี ให้แล้วไม่หวงแหนในสิ่งที่ให้ไปแล้ว เป็นต้น นี้เป็น สัทธรรม เป็นธัมมัสสวนะ

การฟังธรรม มี ๒ ประการ
๑. การฟังธรรมเพื่อให้คนทั้งหลายชื่นชม คือ ปรารถนาว่าเมื่อบุคคลอื่นทราบ เขาก็จะกล่าวถึงเราว่าเป็นคนดีมีศรัทธา มีศีลธรรม เป็นต้น อย่างนี้เป็นการฟังที่มิได้เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาที่แท้จริง มีกิเลสซ่อนเร้นอยู่ ย่อมจะมีผลน้อย อานิสงส์น้อย
๒. การฟังธรรมที่ทำให้จิตใจอ่อนโยน คือ ปรารถนาเพื่อให้เกิดสติปัญญา เพื่อจะได้รู้จักคำสอนในพระพุทธศาสนา รู้จักบุญรู้จักบาป และสิ่ง ที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น การฟังธรรมชนิดนี้ทำให้กุศลเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ย่อมมีผลอานิสงส์มาก

บุญกิริยาวัตถุ ๙. ธรรมเทศนา
ธรรมเทศนา คือ การแสดงธรรม ธรรมเทศนานี้ก็เป็นไปในทำนอง เดียวกันกับธัมมัสสวนะ กล่าวคือ ต้องสอนธรรมที่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเป็นธรรมเทศนา

อานิสงส์ของการแสดงธรรม มี ๒ ประการ
๑. การแสดงธรรมที่ได้อานิสงส์มาก ผู้แสดงธรรมที่จะได้อานิสงส์ ต้องแสดงธรรมโดยเป็นลำดับ ต้องแสดงธรรมด้วยมีจิตอนุเคราะห์แก่ผู้ศึกษา ไม่ว่าผู้ศึกษาจะเป็นใครก็ตาม ก็มีจิตอนุเคราะห์เสมอเหมือนกันหมดไม่แบ่งชั้นวรรณะ ต้องแสดงธรรมโดยไม่มุ่งหวังในลาภสักการะ สรรเสริญ มุ่งแต่จะให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ศึกษา คือ เมื่อผู้ศึกษาเข้าใจในธรรมะที่ถูกต้อง ก็จะเจริญงอกงามในบุญ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ถึงอมตธรรมคือพระนิพพาน การแสดงธรรมเช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นธรรมเทศนาที่แท้จริง จะเป็นเหตุให้ผู้แสดงได้บุญมากได้อานิสงส์มาก 

๒. การแสดงธรรมที่ได้อานิสงส์น้อย ผู้แสดงธรรมที่ไม่มีจิต อนุเคราะห์ผู้ฟัง แสดงธรรมเพราะหวังลาภสักการะ สรรเสริญ แสดงธรรม เพื่อให้คนรู้ว่าเราเป็นครูอาจารย์ เป็นผู้สอนธรรมะเป็นต้น การแสดงธรรมอย่างนี้เป็นการแสดงธรรมชนิดที่มีกิเลสแอบแฝงอยู่ ผลอานิสงส์ก็จะไม่เกิดขึ้นกับผู้แสดง ถ้าเกิดก็เกิดได้น้อย เพราะผู้แสดงธรรมนั้นมีอกุศลเกิดขึ้น อกุศลนี้เปรียบเสมือนตอที่ผุดขึ้นมากั้นกุศลที่จะเกิดขึ้น

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม
ทิฏฐุชุกรรม คือ การกระทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง จะทำดีหรือทำชั่วก็ตาม ย่อมจะต้องได้รับผลของกรรม นั้น
ธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ มี ๓ ประการ
๑. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การเรียนนี้มุ่งหมายการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นการแสดงความจริงของชีวิต มีเหตุมีผล เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เมื่อศึกษาแล้วย่อมทำให้เกิดความเข้าใจในคำสอน ส่งผลทำให้ผู้ศึกษามีการมุ่งมั่นในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เป็นต้น ได้ถูกต้อง
๒. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาในความ เป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย เกี่ยวกับความมีโรค ไม่มีโรค ความโง่ ความฉลาด ความสุข ความทุกข์ อายุสั้น อายุยืน เหล่านี้เป็นต้น เมื่อคิดพิจารณาถูกต้อง เช่นนี้แล้ว จึงเป็นเหตุให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ
๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา เป็น ปัจจัยให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ มีการเห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยของนามรูป เป็นต้น ถึงแม้ว่า บุคคลทั้งหลายโดยส่วนมากจะยังไม่สามารถเห็นความเป็นจริงของรูปนาม ไม่รู้ปัจจัยอันเป็นเหตุเกิดของรูปนาม เพราะบุคคลยังยึดรูปนามขันธ์ ๕ นี้ ว่าเป็นเรา เป็นของๆเราเป็นต้น แต่ถ้ามีความเห็นตรงตามทส
วัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ ก็ชื่อว่ามีกัมมัสสกตาญาณ เป็นทิฏฐุชุกรรม คือ เห็นถูกต้องตรงความเป็นจริงได้เช่นกัน

ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ
๑. เห็นว่า การทำบุญ ย่อมได้รับผลของบุญ คือ ผลดีมีประโยชน์
๒. 
เห็นว่า การบูชา ย่อมได้รับผลของการบูชา คือ ผลดีมีประโยชน์
๓. 
เห็นว่า การเชื้อเชิญต้อนรับ ย่อมได้รับผลของการเชื้อเชิญต้อนรับ คือ ผลดีมีประโยชน์
๔. 
เห็นว่า การทำดีทำชั่ว ย่อมได้รับผลของการทำดีทำชั่ว ทั้ง ทางตรงและทางอ้อม
๕. 
เห็นว่า ภพนี้ โลกนี้ (ปัจจุบัน) มี เพราะมีการเกิด
๖. 
เห็นว่า ภพหน้าโลกหน้ามี เพราะคนตายแล้วยังมีกิเลส จึงต้องเกิดในโลกหน้าอีก
๗. 
เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อมารดา จะต้องได้รับผลดีหรือผลชั่วใน อนาคต
๘. 
เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อบิดา จะต้องได้รับผลดีหรือผลชั่วใน อนาคต
๙. 
เห็นว่า สัตว์ที่เกิดแล้วเติบโตขึ้นทันที คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม มีจริง
๑๐. 
เห็นว่า ผู้รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้า สามารถชี้แจงให้เห็นจริงได้นั้นมี และผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อเข้าถึงมรรคผลนิพพานนั้นก็มี

ในทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ เป็นเหตุให้มีกัมมัสสกตาญาณ เกิดขึ้นในขันธสันดาน ดังนั้นควรสำรวจว่าตนมีความเห็นใน ๑๐ ประการนี้ ครบถ้วนหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบถ้วนก็ควรศึกษาธรรมะและเจริญการปฏิบัติ ภาวนา เพื่อปรับปรุงแก้ไขความเห็นของตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 


สรุป “ บุญ” ว่าโดย มนุสสธรรม และ อุตริมนุสสธรรม การงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีการให้ทาน การรักษาศีล และ ภาวนา(โดยความหมายบุญกิริยาวัตถุ ไม่ใช่ ภาวนากรรมฐาน) ก็มีเจตนา และวิรติ เป็นต้น เข้าประกอบร่วมกับมหากุศลจิต ๘ นี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็น ปัจจัยเบื้องต้นที่จะให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ ได้ ผลแห่งกุศลเบื้องต้น เป็นเหตุ เป็นที่พึ่งอาศัยทำให้พ้นไปจากอบายภูมิ ไปสู่สุคติภูมิได้เท่านั้น คือ ทำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดาได้เท่านั้น เปรียบเหมือนเรือลำน้อยที่พอเป็นที่อาศัย ข้ามจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้นซึ่งสะดวกสบายกว่าการลุยน้ำข้ามไปเท่านั้นเอง เป็นกุศลขั้นต่ำที่มนุษย์ปกติธรรมดาทั่วไปควรทำให้เกิดขึ้น และก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษใดๆ อย่างนี้เองท่านจึง เรียกว่า “มนุสสธรรม(หรือมนุษยธรรม) ดังคำว่า “ มนุสฺสธมฺโม นาม ทส กุสลกมฺมปถา แปลว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า มนุสสธรรม ” หมายความว่า เป็นธรรมที่ผู้เป็นมนุษย์ทั้งหลายทั่วไปพึงทำให้เกิดขึ้นได้ ส่วนเจตนาที่ประกอบร่วมกับรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิต และโลกุตตรกุศลจิต ที่เป็นความสำเร็จจากการเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น เป็นกุศลกรรมขั้นสูงที่ไม่ใช่สักแต่ว่าทำให้พ้นจากอบายภูมิไปสู่กามสุคติ ๗ คือ มนุษย์ และเทวดาได้เท่านั้น แต่สามารถทำคติที่ถึงนั้นให้เป็นคติที่ยอดเยี่ยมพิเศษ คือเป็นพรหมชั้นรูปพรหมและอรูปพรหม อันสูงกว่ามนุษย์หรือเทวดา หรือทำให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์ คือ พระนิพพานอันยอดเยี่ยมสูงสุด จึงเปรียบเหมือนเรือใหญ่ ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าจะอาศัยข้ามจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งตรงกันข้ามโน้นได้เท่านั้น แต่ว่าใช้อาศัยออกสู่มหาสมุทรได้อีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นกุศลกรรมชั้นสูง ที่มนุษย์ปกติธรรมดาไม่สามารถจะสำเร็จกันได้โดยทั่วไป เฉพาะบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ มีวาสนาบารมี อบรมมาในอดีตชาติเป็นอย่างดีแล้ว และปัจจุบันก็ขวนขวายเจริญบุญขั้นสูงนี้ จึงจะทำให้สำเร็จได้ โดยเหตุนี้ท่านจึงไม่เรียกกุศลกรรมเหล่านี้ว่ามนุสสธรรม แต่เรียกว่า “อุตริมนุสส ธรรม” แปลว่า ธรรมที่ยอดเยี่ยมกว่าธรรมของมนุษย์ปกติธรรมดา ดังคำว่า “ อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นาม ฌาน วิโมกฺข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสน มคฺค ภาวนา ผลสจฺฉิกิริยา กิเลสปฺปหาน วินีวรณตา จิตฺตสฺส สุํฺญาคาเร อภิรติ (จากวิ.มหา.) ” แปลว่า ฌาน , วิโมกข์, สมาธิ , สมาบัติ , ญาณทัสสนะ , การเจริญมรรค , การกระทำผลให้แจ้ง , การละกิเลสได้ ภาวะที่จิตปราศจากนิวรณ์ , ความยินดียิ่งในสุญญาคาร เหล่านี้ ชื่อว่า อุตริมนุสสธรรม ” 



 


 


 

วิกิ

ผลการค้นหา