๔.๑.๒ วจีทุจริต ๔

วจีทุจริต มี ๔ คือ
๑. มุสาวาท คือ การมีเจตนากล่าวคำเท็จ เป็นคำพูดที่ไม่จริง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความจริง จะเป็นการพูดด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่นพูด เขียนหนังสือ เขียนจดหมาย หรือประกาศกระจายเสียง ก็จัดเป็นมุสาวาททั้งสิ้น คำพูดเท็จเป็นคำที่ไม่จริง รวมไปถึงการแสดงกิริยาอาการทางกายด้วย เช่น ส่ายหน้า พยักหน้า ฯลฯ การพูดเท็จจะสำเร็จทางวาจาเป็นส่วนมาก ฉะนั้น คำพูดเท็จ จึงเป็นการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวกายหรือวาจา เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยความคิดจะทำลายประโยชน์เขา


องค์ประกอบของการพูดเท็จ มี ๔ ประการ คือ
  • ๑. เรื่องที่ไม่จริง 
  • ๒. มีจิตคิดจะทำให้เขาเข้าใจคลาดเคลื่อน 
  • ๓. ความพยายามอันเกิดจากความคิดนั้น 
  • ๔. เมื่อพูดแล้วมีคนเชื่อคำพูดนั้น
เรื่องที่ไม่จริง เป็นอย่างไร ? คือ เรื่องจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่ตนเองนำไปกล่าวหรือแสดงให้เขาเข้าใจผิดไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีเรื่องไม่จริงนั้นอยู่ในใจเท่านั้น ยังไม่ได้กล่าวหรือแสดงออกมาก็ยังไม่เป็นมุสาวาท แต่คิดจะกล่าวเรื่องไม่จริงและมีเจตนาจะทำลายประโยชน์ของผู้ฟังแล้วกล่าวหรือ แสดงออก และผู้ฟังรู้เนื้อความนั้นและเชื่อเนื้อความนั้น ได้ชื่อว่ามุสาวาทแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ทำลายประโยชน์ คำพูดนั้นก็จัดเป็นเพ้อเจ้อ เพราะเรื่องนั้นตกเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ 

อนึ่ง ถึงแม้เมื่อคิดจะมุสาวาทและตั้งใจอยู่นิ่งๆ โดยคิดว่า “ถ้าเรานิ่งเฉยอยู่อย่างนี้ เขาจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น” ก็เป็นความพยายามเหมือนกัน เพราะอาการนิ่งนั้นเป็นเพราะจัดแจงแต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์จะมุสา

ผลของมุสาวาท
การส่งผลในปฏิสนธิกาล
การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ แล้ว จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมนี้ส่งผล จะนำไปเกิดในอบายภูมิ
การส่งผลในปวัตติกาล
ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลนี้อีก ผลในปวัตติกาล เจตนากรรมของมุสาวาทจะส่งผลทำให้ ตาส่อน เพราะเหตุที่เวลากล่าวคำเท็จจะมีอาการ เช่น คอยก้มหน้าต่ำ คอยเบนสายตาหลบ ไม่กล้าสบตากับผู้ที่ตนพูดด้วย เพราะมุ่งจะกล่าวคำเท็จ มีฟันเกไม่เรียบชิดกัน เพราะเหตุที่คำเท็จนั้นเปล่งออกมาเพื่อทำลายประโยชน์ ปากมีกลิ่นเหม็นเพราะคำที่มุ่งทำลายประโยชน์เป็นคำที่น่ารังเกียจเหมือนปล่อยลมเสียออกมาทางปาก คนไม่เชื่อถือในคำพูด พูดติดอ่าง หรือเป็นใบ้ เพราะกรรมของมุสานั้นส่งผลทำให้ใครๆไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความเชื่อถือคำพูด เป็นต้น

การงดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ
จะมีอานิสงส์ส่งผลในปวัตติกาล เช่น เป็นคนหน้าตาแจ่มใส ตาไม่ส่อน ไม่เข ฟันไม่เก ปากมีกลิ่นหอม จะกล่าวเรื่องใดพูดอะไรสั่งการใดๆ ก็มีคนเชื่อฟัง ลูกน้องบริวารน้อมรับฟังคำสั่ง และ ทำตามเพราะเชื่อในคำพูด ไม่พูดติดอ่าง ไม่เป็นใบ้ เป็นต้น
๒. ปิสุณวาจา เป็นคำพูดของบุคคลที่ต้องการทำลายความรักความสามัคคี ของคนที่เขาปองดองกันดีอยู่ ให้ผิดใจกัน แล้วหันมารักตนหรือสัมพันธ์กับตนแทน ถ้าผู้แตกแยกนั้นเป็นบุคคลที่มีศีลธรรมจะบาปมาก เช่น การพูดยุยงให้สงฆ์แตกแยกกันไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเป็นบาปมาก

องค์ประกอบของการพูดส่อเสียดมี ๔ ประการ คือ
  • ๑. มีผู้ทำให้ถูกแตกแยก 
  • ๒. มีเจตนามุ่งให้แตกแยก 
  • ๓. เพียรพยายามให้เขาแตกแยก 
  • ๔. เขาได้แตกแยกกันสมใจคิด 
ถ้าพยายามพูดทำให้เขาแตกแยกกันแต่ว่าไม่สำเร็จผล ก็ยังไม่จัดเป็นปิสุณวาจา

ผลบาปของการพูดส่อเสียด
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อการพูดส่อเสียดสำเร็จลงโดย มีองค์ประกอบทั้ง ๔ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรม เช่นนี้ส่งผลตอนสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ เป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้แตกแยกจากมิตรสหาย ถูกติเตียน มักถูกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่เป็นจริง เป็นผู้ตำหนิตนเองอยู่เสมอๆ
 

๓. ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ การด่าทอ การสาปแช่งต่างๆ ทำให้ผู้ถูกด่าเกิดความเศร้าใจเสียใจเดือดร้อนใจ เป็นการกระทำที่เกิดมาจากอำนาจของความโกรธความไม่พอใจ การด่าว่าผู้มีอุปการคุณ เช่น บิดา มารดา หรือผู้มีอุปการคุณอื่นๆ ด่าว่าผู้มีศีล เช่น พระภิกษุสงฆ์ สามเณร หรือ แม่ชี จะมีบาปมากมีโทษมาก อนึ่ง คำพูดบางคำแม้ว่าเป็นคำหยาบ แต่เมื่อผู้พูดมีเจตนาอ่อนโยน ก็ไม่จัดเป็นผรุสวาจา

ตัวอย่างเช่น มีเรื่องเล่าว่า เด็กคนหนึ่งไม่เชื่อฟังคำมารดาว่าอย่าไปเที่ยวเล่นในป่า เมื่อมารดาไม่อาจห้ามได้ จึงด่าออกไปว่า “ ขอให้มึงถูกแม่ควายดุไล่ขวิดเถอะ ” ต่อมาเขาก็เผชิญกับแม่ กระบือป่าตามคำของมารดาจริงๆ เด็กได้ตั้งใจอธิษฐานว่า “ มารดากล่าวถึงสิ่งใดแก่เราด้วยสักแต่ว่าพูดไปใจมิได้คิดถึงสิ่งนั้นจริง ขอสิ่งนั้นจงอย่ามี คิดถึงสิ่งใดใคร่จะให้มีจริง ขอสิ่งนั้น จงมีเถิด” เมื่อจบคำอธิษฐาน แม่กระบือก็หยุดเฉยราวกับว่าถูกตรึงไว้กับที่ ณ ที่นั้น ตัวอย่างนี้ คำพูดของมารดาไม่มีเจตนาทำร้ายบุตร ถึงแม้คำพูดจะเป็นคำหยาบก็ตาม หรือคำพูดที่ไพเราะแต่มีเจตนาเย้ยหยันทำให้เขาเจ็บใจ ก็จัดเป็นผรุสวาจา เช่น การกล่าวประชดหรือดูถูกผู้อื่นเกี่ยวกับ สกุลว่า “ โอ ท่านผู้มีศักดิ์สูงส่ง ไฉนจึงแสร้งทำเป็นคนเข็ญใจ อนาถาอยู่เล่า”

องค์ประกอบของการพูดคำหยาบ มี ๓ ประการ คือ
  • ๑. มีความโกรธ 
  • ๒. มีผู้ที่ตนจะพึงด่าว่า 
  • ๓. มีการพูดกล่าววาจาสาปแช่งหรือด่าทอ 
ผลบาปของการพูดคำหยาบ 
ผลของบาปในปฏิสนธิกาล
เมื่อการพูดคำหยาบสำเร็จลงโดย มีองค์ ประกอบทั้ง ๓ ครบ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผล ตอนสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้มีกายวาจาหยาบ ตายด้วยการหลงลืมสติ แม้มีทรัพย์สินก็จะพินาศ

๔. สัมผัปปลาปะ  คือ การพูดเพ้อเจ้อ มีเจตนาที่จะพูดเรื่องไร้ประโยชน์ แต่ถ้ามีเจตนาและพูดเรื่องไร้ประโยชน์แล้ว ถ้าผู้อื่นยังไม่เชื่อ ก็ยังไม่เป็นสัมผัปปลาปะ แต่ถ้าผู้อื่นถือเอาคำพูดเรื่องไร้ประโยชน์นั้นโดยความเป็น สาระ เจตนานั้นก็สำเร็จเป็นสัมผัปปลาปะแล้ว สัมผัปปลาปะนั้นเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ มีแต่จะเป็นเหตุ เป็นกระแสแห่งราคะ แห่งความยินดีพอใจของผู้อื่นนั้นมากขึ้น โดยปกติมนุษย์ปุถุชนมักมีคำพูดเล่นกันอยู่เสมอเพื่อสนุกรื่นเริง เพื่อหัวเราะเฮฮา การยิ้ม การหัวเราะนั้นเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าถือว่าเป็นกระแสแห่งราคะ คือ คนที่ยังมีราคะอยู่เท่านั้นจึงยิ้มและหัวเราะ ส่วนพระอริยเจ้าชั้นพระอรหันต์ หรือ พระอนาคามีซึ่งตัดกระแสราคะได้แล้วย่อมไม่ยิ้มไม่หัวเราะอย่างคนธรรมดา เมื่อ เกิดความปีติปราโมทย์ในธรรมก็เพียงแต่แย้ม เมื่อเห็นเหตุการณ์ใดที่ควรแก่การกล่าวขยายให้ผู้อื่นได้ทราบ ก็แสดงอาการแย้ม อย่างที่พระพุทธองค์ทรงกระทำเสมอ การพูดเล่นในเรื่องไร้สาระ การสรวลเสเฮฮานั้นทั้งหมดเป็นคำพูดไร้ประโยชน์ แม้พูดมากเพียงไรก็ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ใคร ส่วนคำที่มีประโยชน์ย่อมประเสริฐกว่า เพราะฟังแล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตน ได้ ได้แก่ คำพูดว่า “ จงมีสติ สำรวจกาย วาจาใจ เพื่อการประพฤติศีล สมาธิ” หรือ คำที่ประกอบด้วยนิพพาน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ฯลฯ คำเหล่านี้ฟังแล้วเป็นเหตุให้กิเลสสงบระงับ คือ สงบจาก ราคะ โทสะ เป็นต้น จัดเป็นคำพูดอันประเสริฐกว่าแม้จะพูดเพียงเล็กน้อย นี้เป็นตัวอย่างเบื้องสูง

คำพูดที่มีประโยชน์แบบคำธรรมดาสามัญ เช่น ทำอย่างไรดี ทำอย่างไรชั่ว อะไรควรเว้น อะไรควรทำ ควรดำเนินชีวิตอย่างไร ควรทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร เป็นต้น ผู้ฟัง ฟังแล้วนำไปปฏิบัติตามทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนแก่สังคมได้

องค์ประกอบของการพูดเพ้อเจ้อ มี ๒ ประการ คือ
  • ๑. เจตนากล่าววาจาที่ไม่เป็นประโยชน์ 
  • ๒. กล่าววาจาที่ไม่เป็นประโยชน์ 
สัมผัปปลาปะ เป็นการกล่าวคำไม่จริง แต่ก็มีความแตกต่างกับมุสาวาท คือ เจตนาที่มุ่งจะกล่าวเรื่องไร้สาระอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นเจตนาที่เป็นไปโดยต้องการให้เขาเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วทำประโยชน์ของเขาให้เสียหาย อย่างนี้เป็นมุสาวาท เกี่ยวกับคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ เรียกว่า เดรัจฉานกถา เพราะเป็นสิ่ง ที่ขวาง มรรค ผล นิพพาน

เดรัจฉานกถา มี ๓๒ ประการ
๑. พูดเรื่อง พระมหากษัตริย์ และ ราชวงศ์
๒. พูดเรื่อง โจร
๓. พูดเรื่อง ราชการ การเมือง
๔. พูดเรื่อง ทหาร ตำรวจ
๕. พูดเรื่อง ภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น
๖. พูดเรื่อง อาวุธยุทโธปกรณ์
๗. พูดเรื่อง อาหารการกิน
๘. พูดเรื่อง เครื่องดื่ม สุราเมรัย
๙. พูดเรื่อง การแต่งตัว เสื้อผ้าอาภรณ์
๑๐. พูดเรื่อง การหลับนอน
๑๑. พูดเรื่อง ดอกไม้ การจัดประดับ ดอกไม้
๑๒. พูดเรื่อง กลิ่นหอมต่าง ๆ
๑๓. พูดเรื่อง วงศาคณาญาติ
๑๔. พูดเรื่อง รถ เรือ ยานพาหนะต่างๆ
๑๕. พูดเรื่อง หมู่บ้าน ร้านค้าต่างๆ
๑๖. พูดเรื่อง นิคมต่างๆ (หมู่บ้านใหญ่, เมืองขนาดเล็ก)
๑๗. พูดเรื่อง เมืองหลวง จังหวัด
๑๘. พูดเรื่อง ชนบท
๑๙. พูดเรื่อง ผู้หญิง
๒๐. พูดเรื่อง ผู้ชาย
๒๑. พูดเรื่อง หญิงสาว
๒๒. พูดเรื่อง ชายหนุ่ม
๒๓. พูดเรื่อง วีรบุรุษ ความกล้าหาญ
๒๔. พูดเรื่อง ถนนหนทาง
๒๕. พูดเรื่อง ท่าน้ำ แหล่งน้ำ
๒๖. พูดเรื่อง ญาติ เรื่องคนที่ตายไปแล้ว
๒๗. พูดเรื่อง ต่างๆ นานา
๒๘. พูดเรื่อง โลกและผู้สร้างโลก
๒๙. พูดเรื่อง มหาสมุทร และการ สร้างมหาสมุทร
๓๐. พูดเรื่อง ความเจริญ และความ เสื่อมต่างๆ
๓๑. พูดเรื่อง ป่าต่างๆ
๓๒. พูดเรื่อง ภูเขาต่างๆ

ขอยกคำกล่าวจากพระพุทธภาษิต มีความว่า " คำพูดแม้ตั้งพันแต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมสู้คำเดียวที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ บทเดียวที่เป็นประโยชน์ซึ่งฟังแล้วทำให้สงบได้ นั้น ประเสริฐกว่า
  

ตัวอย่าง เรื่องชายเคราแดงผู้ฆ่าโจร ชายผู้นี้มีลักษณะพิเศษ คือ เคราแดงและนัยตาเหลือกเหลือง หน้าตาท่าทางเป็นคนดุร้าย เขาไปสมัครเป็นโจรกับหัวหน้าโจรกลุ่มหนึ่ง หัวหน้าโจรเห็นเขาแล้วรู้ว่า “ ชายนี้กักขฬะนัก สามารถตัดนมแม่หรือนำเลือดในลำคอของพ่อออกมากินได้” จึงปฏิเสธไม่รับเข้าหมู่ ชายนั้นไม่ลดละความพยายาม เขาเข้าตีสนิทกับสมุนโจรคนหนึ่ง พยายามทำทุกอย่างจนสมุนโจรพอใจ พาไปหาหัวหน้าโจรอีกครั้งหนึ่ง อ้อนวอนให้รับไว้ในหมู่ โดยอ้างว่าเป็นผู้มีอุปการะมากต่อพวกตน หัวหน้าโจรขัดไม่ได้จึงรับไว้

วันหนึ่งโจรกลุ่มนี้ถูกจับ พวกอำมาตย์ขอให้หัวหน้าโจรฆ่าลูกน้องของตนทั้งหมดแล้วจะปล่อยหัวหน้าให้เป็นอิสระ หัวหน้าโจรไม่ยอมรับทำ จึงถามโจรคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครรับ มาถึงนายเคราแดง เขารับ แล้วฆ่าโจรพวกของตนทั้งหมด เขาจึงได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ ต่อมาวันหนึ่ง พวกอำมาตย์จับโจรอีกกลุ่มหนึ่งมีจำนวนร้อยได้ จึงขอให้ชายเคราแดงฆ่าโจรกลุ่มนั้นอีก เขาฆ่าหมด พวกชาวเมืองและอำมาตย์เห็นว่าเขาควรแก่งานฆ่าคนประจำ จึงตั้งตำแหน่งเพชฌฆาตให้นายเคราแดง

นายเคราแดงทำอาชีพเพชฌฆาตอยู่ถึง ๕๕ ปี เมื่อแก่ลงมากไม่ สามารถฆ่าคนให้ตายด้วยการฟันครั้งเดียวได้ เพราะกำลังถดถอย ชาวเมืองเห็นว่าทำให้คนถูกฆ่าได้รับทุกข์ทรมาน จึงร่วมกันถอดจากตำแหน่งเพชฌฆาตเพื่อให้คนอื่นทำแทน เมื่อออกจากตำแหน่งแล้ว เขาต้องการทำกิจ ๔ อย่าง เพื่อเป็นสิริมงคล คือ
๑. นุ่งผ้าใหม่
๒. ดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่
๓. ประดับดอกมะลิ
๔. ทาของหอมทั่วกาย
ของทั้งหมดนี้ ประชาชนเป็นผู้จัดหาให้ตามที่เขาต้องการ เมื่อเขานุ่งผ้าใหม่เตรียมจะบริโภคยาคู ขณะเดียวกันนั้นเองพระสารีบุตรเถระเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ พิจารณาว่าควรจะไปโปรดใคร ได้เห็นนายเคราแดงนั้นแล้ว ทราบด้วยญาณว่า เมื่อท่านไปโปรดเขา เขาจักถวายอาหารแก่ท่านและจักได้สมบัติใหญ่เพราะบุญนั้น นายเคราแดงพอเห็นพระสารีบุตรก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่า “ เราได้ฆ่าคนมาเป็นอันมาก เป็นเวลานานถึง ๕๕ ปี บัดนี้ไทยธรรมของเราก็มีแล้ว พระเถระก็มายืนอยู่เฉพาะหน้า เราควรทำบุญในวันนี้” ดังนี้แล้ว ก็ลงไปนิมนต์พระเถระให้ขึ้นเรือน แล้วถวายยาคูลงในบาตร ราดเนยใสใหม่ลงไปแล้ว ได้ยืนพัดพระเถระอยู่

ขณะดูพระเถระฉันอยู่นั้นก็เกิดความอยากจะบริโภคยาคูเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้บริโภคอาหารเช่นนี้มาเป็นเวลานาน พระเถระรู้วาระจิตของเขา จึงบอกให้เขาไปบริโภคยาคูของเขาเสีย ให้คนอื่นมาทำหน้าที่พัดท่านแทน ขณะที่เขากำลังบริโภคยาคู พระสารีบุตรก็สั่งให้คนๆ นั้นไปพัดให้นายเคราแดง นายเคราแดงบริโภคจนอิ่มเต็มที่แล้วก็กลับมานั่งพัด พระสารีบุตรฉันเสร็จแล้วก็อนุโมทนา แต่ใจของนายเคราแดงฟุ้งซ่าน ไม่อาจฟังธรรมเทศนาได้

พระเถระสังเกตเห็นจึงถาม เขาตอบว่า “ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมหยาบช้ามาเป็นเวลานาน ข้าพเจ้าฆ่าคนมาเป็นจำนวนมาก เมื่อระลึกถึงกรรมนั้นแล้ว ก็ไม่อาจน้อมจิตไปตามธรรมเทศนาได้ ” พระเถระคิดว่าจักลวง เพื่อให้เขามีใจปลอดโปร่งฟังธรรมแล้วจักได้ผลมาก จึงถามว่า “ ท่านทำเอง หรือใครสั่งให้ทำ ” เขาตอบว่า “ พระราชาสั่งให้ทำ ” พระเถระกล่าวว่า “ เมื่อเป็นเช่นนี้ อกุศล จะมีแก่ท่านได้อย่างไร ” เมื่อได้ฟังเช่นนั้นเขาก็เข้าใจว่าบาปไม่มีแก่เรา จึงตั้งใจฟังธรรมได้ บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระสารีบุตรอนุโมทนาเสร็จแล้วเดินกลับ เขาเดินตามไปส่งโดยระยะทางครู่หนึ่งแล้วเดินกลับ ขณะนั้นเองแม่โคนมตัวหนึ่งขวิดเขาถึงแก่ความตาย เขาได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต

ภิกษุทั้งหลายสนทนาถึงเรื่องนี้ว่า “ เคราแดงตายแล้วไปเกิดที่ใดหนอ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต”
ภิกษุทูล ถามว่า “ เขาทำกรรมมาช้านาน จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตได้ อย่างไร”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ บุรุษนั้นได้กัลยาณมิตรเช่นพระสารีบุตรแล้ว ได้ฟังธรรมแล้ว สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อตายแล้ว จึงไปเกิดในภพดุสิต”
ภิกษุทูลถามว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นทำอกุศลกรรมไว้มาก เพียงแต่ฟังอนุโมทนากถา จะยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้อย่างไร”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือเอาปริมาณแห่งคำสุภาษิตอันเราแสดงแล้วว่าน้อยหรือมาก เพราะว่าแม้เพียงคำเดียว แต่เป็นวาจาอันประกอบด้วยประโยชน์ย่อมประเสริฐโดยแท้

ผลบาปของการพูดเพ้อเจ้อ
ผลของบาป ในปฏิสนธิกาล
เมื่อการพูดเพ้อเจ้อสำเร็จลงโดยมี องค์ประกอบทั้ง ๒ ครบ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมเช่นนี้ส่งผล จะนำไปเกิดในอบายภูมิ
ผลของบาปในปวัตติกาล
กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล คือ ทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี เศษกรรมที่จะตามมาส่งผลหลังจากที่ได้รับทุกข์ในอบายภูมิแล้ว ยังสามารถตามมาส่งผลทำให้เป็น บุคคลที่ไม่มีใครเชื่อถือในคำพูด ไม่มีอำนาจ หรือ วิกลจริต



วิกิ

ผลการค้นหา