อาจิณณกรรม หมายถึง กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ เป็นกรรมที่บุคคลสั่งสมไว้บ่อยๆ ได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘ อาจิณณกรรม ในบางแห่งเรียกว่า พาหุลกรรม แปลว่า กรรมที่ทำไว้มาก
กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ บ่อย ๆ คำว่าทำบ่อยๆ ไม่ใช่หมายถึงเพียงจะต้องทำทางกายตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นกรรมที่ทำครั้งเดียว แต่นึกถึงบ่อยๆ ก็เป็นอาจิณณกรรมแล้ว เช่นเคยสร้างโบสถ์ ตลอดชีวิตอาจทำได้ครั้งเดียว แต่ว่านึกถึงบ่อยๆ ก็จัดเป็น อาจิณณกรรมฝ่ายกุศล เพราะนึกถึงครั้งใดจิตใจก็เป็นบุญ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นอกุศลถึงแม้ทำครั้งเดียวแต่ ถ้ามีการนึกถึงบ่อยๆ ก็เป็นอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลตัวอย่างเช่น ในสมัยพุทธกาลมีคนฆ่าหมูชื่อนายจุนทะ ฆ่าหมูทุกวัน เมื่อนายจุนทะใกล้ตาย เขาร้องเป็นเสียงหมูเมื่อตอนถูกเชือด กรรมที่เขาทำอยู่เสมอๆ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่กรรมนั้นไม่มีโอกาสส่งผล แต่เมื่อ ใกล้ตายก็มาส่งผล ฉะนั้นกรรมใดที่บุคคลได้ทำไว้บ่อยๆ ตลอดช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นแหละเป็นอาจิณณกรรม ในขณะใกล้ตายถ้าไม่มีกรรมอื่นๆมาให้ผล กรรมที่เป็นอาจิณณกรรมก็จะให้ผลนำไปเกิด