ชาวบ้านก็เป็นภิกษุได้

มาดูคําจํากัดความ “ภิกษุ” ใน พระไตรปิฎกกันก่อน
เริ่มที่วินัยปิฎก ซึ่งแสดงความหมายของภิกษุด้วยคําจํากัดความ อย่างที่ใช้กันในกฎหมาย คือ ชี้ลงไปว่า “ภิกษุ” ที่กล่าวถึงในพระวินัย โดยเฉพาะในสิกขาบททั้งหลาย ซึ่งเป็นพุทธบัญญัตินั้น หมายถึงใคร ได้แก่บุคคลผู้ใด ดังนี้


🔔ภิกษุความหมายตามพระวินัย (วินย.๑/๒๖/๔๒) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ขอภิกษา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ดําเนินภิกขาจริยา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ครองผืนผ้าที่ตัดฉีก
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมัญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้เจริญงดงาม
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ทรงสาระ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระอเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุ ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกันนี้ ชื่อว่า “ภิกษุ” ที่ทรงประสงค์ ในอรรถนี้. ข้อความนี้บอกว่า ในพระวินัย ซึ่งว่าตามบัญญัติ ยึดถือรูปแบบ รักษาแบบแผน “ภิกษุหมายถึงผู้ที่สงฆ์อุปสมบทให้ด้วยสังฆกรรมที่เป็นญัตติจตุตถกรรม เท่านั้น ไม่นับผู้ที่เรียกว่าเป็นภิกษุในความหมายอื่น นี่เรื่องของวินัย หรือกฎหมาย ต้องให้แน่ชัด ตายตัว

🔔 ภิกษุความหมายตามพระอภิธรรมปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านบอกวจนัตถ์ คือความหมายของคําว่า “ภิกษุ” ไว้คล้าย กับในพระวินัยปิฎก ดังนั้น ก่อนจะไปที่พระสุตตันตปิฎก จึงดูความหมายในคัมภีร์ฝ่ายพระอภิธรรมเสียก่อน แต่พึงทราบว่าข้อความจากพระอภิธรรมนี้ อยู่ในภาคสุตตันตภาชนีย์ (แจงความแบบพระสูตร) จะเห็นว่า ในพระอภิธรรมปิฎก บอกความหมายต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดหรือระบุ เจาะจงลงไปว่าจะต้องใช้ความหมายใด ขอยกมาให้ดู ดังนี้ (อภิ.วิ.๓๕/๖๐๑/๓๓๐: หลายข้อ เหมือนกับในพระวินัยปิฎกข้างต้น แต่ที่นี่แปลโดยใช้สํานวนต่างออกไปบ้าง) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 เพราะเป็นสมัญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะการปฏิญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะขอภิกษา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะเป็นผู้ขอภิกษา จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะดําเนินภิกขาจาร จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะครองผืนผ้าตัดฉีก จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะกําลังทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสจําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสไม่จําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 พระเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ไม่ใช่พระเสขะและไม่ใช่พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ลุถึงธรรมอันเลิศ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้เจริญงดงาม ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ผุดผ่อง ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ทรงสาระ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่ พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ

🔔 ภิกษุความหมายตามพระสูตร/พระสุตตันตปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก หรือพูดสั้นๆ ว่า ในพระสูตร ซึ่งแสดงธรรมมีคําสอนทุกระดับ ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ อันจัดปรับให้เหมาะกับพื้นเพภูมิธรรมจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ความหมายของ “ภิกษุ” มีทั้งแบบพื้นๆ ตามหลักการทั่วไป และแบบปลุกให้ตื่น ยกมาดูพอเห็น คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะได้ทําลายธรรม ๗ ประการ คือ ทําลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ และมานะ. ภิกษุนั้นได้ทําลายบาปอกุศลธรรม อันก่อความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ มรณะต่อไป. (ขุ.ม.๒๙/๘๖/๘๒) ดังที่ว่าแล้ว ในพระสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เหมาะกับบุคคล และ สถานการณ์ ความหมายของ “ภิกษุ” แม้จะคงอยู่ตามหลักใหญ่ แต่มีรายละเอียดและแง่มุมยักเยื้องต่างกันไป ขอเล่าบางเรื่องเป็นตัวอย่าง (สํ.ส.๑๕/๗๑๗/๒๖๗)

ที่เมืองสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้ขอภิกษา พระองค์ก็เป็นผู้ขอภิกษา ในภาวะนี้ เราจะต่างอะไรกัน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงเพราะขอภิกษาจากคนอื่น ก็หาไม่ ตราบเท่าที่ยังสมาทานธรรมอันเป็นพิษ จะเป็นภิกษุหาได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ ลอยบุญลอยบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในโลกด้วยปัญญา ผู้นั้นแลจึงเรียกได้ว่าเป็นภิกษุ ดังได้พูดแล้ว คนจํานวนมากติดรูปแบบ ถือลักษณะอาการภายนอกเป็นมาตรฐาน จนไปๆ มาๆ มองแค่รูปลักษณ์ ไปไม่ถึงสาระ หรือลืมสาระไปเลย เอาแค่ว่า จะเป็นฤๅษี ก็เกล้าผมทรงชฎา จะเป็นพระ ก็โกนศีรษะนุ่งเหลืองห่มเหลือง เพราะการยึดติดอย่างนี้ บางทีพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนแบบเปิดตาปลุกให้ตื่น ดังที่ตรัสครั้งหนึ่งว่า (ขุ.ธ.๒๕/๒๐/๓๓) ผู้ใด ถึงจะตกแต่งกาย สวมใส่อาภรณ์ แต่หากประพฤติชอบ เป็นผู้สงบ ฝึกอบรมตนแน่วแน่ เป็นผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ เลิกละการเบียดเบียน ปวงสัตว์ทั้งหมดแล้ว ผู้นั้นแล จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นพระภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น

ฟังพุทธพจน์นี้แล้ว ผู้ที่ไม่ได้บวชพระ ก็สบายใจได้ว่าโอกาสทางธรรมไม่ได้หายไปไหน ในพระสูตร พุทธพจน์ที่ตรัสแสดงความหมายของ “ภิกษุ” ยังมีอีก ใครสนใจก็ไปค้นดู ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ คําว่า “ภิกฺขุ” นี้ ตามปกติก็ถือกันว่ามาจากธาตุคือ “ภิกฺข” (+ รู ปัจจัย) ดังที่ วิเคราะห์ศัพท์ได้ว่า ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะขอภิกษา) หมายถึง ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตด้วยการขอที่ประเสริฐคือสงบนิ่งไม่เอ่ยปาก(วิ.อ.๑.๒๕๓)

อัฏฐิเสนชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ หน้า ๒๙๔ บทว่า อุทฺทิสฺส อริยา ติฏฺฐนฺติ ความว่า ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีความต้องการสิ่งใด จะไม่เปล่งวาจาขอ แต่จะยืนอยู่เฉพาะ ณ ที่นั้น ด้วยภิกขาจารวัตรอย่างเดียวเท่านั้น คือไม่ให้องค์คือกายและองค์คือวาจาไหว เพราะว่า เพื่อแสดงกายวิกาล ทำเครื่องหมายให้รู้ ก็ชื่อว่าให้องค์คือกายไหว เมื่อทำการเปล่งวาจา ก็ชื่อว่า ให้องค์คือวาจาไหว พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะไม่ทำทั้ง ๒ อย่างนั้นยืนอยู่เฉย ๆ.

บทว่า เอสา อริยาน ยาจนา ความว่า การไม่ให้องค์คือวาจาไหว ยืนอยู่เพื่อภิกษานี้ ชื่อว่า เป็นการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. แต่ท่านบอกนัยอื่นว่า มาจาก “อิกฺข” ธาตุ ก็ได้ คือ ภย+อิกฺข+รู =ภิกฺขุ ตาม วิเคราะห์ที่ว่า ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย) ภัย แปลว่า สิ่งที่น่ากลัว น่าหวาดสะดุ้ง น่าเกรงขาม มีอยู่หลายประการ จะพึงเห็นได้จาก หลักฐาน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๑ หน้า ๑๖๒ เป็นต้นว่า “จัตตารีมานิ ภิกขเว ภยานิ” ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ภัยมี ๔ อย่าง เหล่านี้คือ
๑. อัตตานุวาทภยัง แปลว่า ภัย คือ การติเตียนตนเอง หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า การติเตียนตนจึงได้ละกายทุจริต วจีทุจริตเสีย แล้วประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๒. ปรานุวาทภยัง ภัย คือ การถูกผู้อื่นติเตียน หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าคนได้ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ถึงคนอื่นเขามิได้ติเตียนโดยศีลก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็กลัวต่อการถูกตำหนิติเตียนจากผู้อื่น จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๓. ทัณฑภยัง ภัย คือ อาชญา หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นโจรผู้ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองถูกจับได้ ถูกโบยด้วยแซ่บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตลอดจนถึงเอาขวายผ่าอกบ้าง แทงด้วยหอกทีละน้อยจนตายบ้าง ขุดหลุมฝังเพียงเอว เอาฟางสุมครอกด้วยไฟ พอหนังไหม้เอาเหล็กไถบ้าง เชือดเนื้อออกมาทอดให้กินบ้าง รวมทั้งสิ้นมี ๓๒ ประการ ครั้นเห็นโทษเช่นนั้นแล้ว จึงพิจารณาว่าถ้าเราทำชั่วเช่นนั้น ก็จะต้องได้รับโทษอย่างนี้แน่นอน เขาไม่ยอมทำความชั่วทางกาย วาจา ใจเลย มีแต่ทำความดีตลอดไป อย่างนี้เรียกว่า กลัวต่อภัยคือ อาชญา
๔. ทุคคติภยัง ภัย คือ ทุคคติ ทุคคติมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า ผลชั่วของทุจริตทางกาย วาจา ใจเป็นของมีอยู่แน่นอน หากว่าเราประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ในโลกนี้ เราก็เดือดร้อน แม้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ไปสู่ปรโลก เราก็จะต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เป็นแน่นอน เมื่อเขากลัวต่อทุคติภัยเช่นนี้ จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ เสียหมดสิ้น รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี

อย่างนี้ เรียกว่า ภัย ทีนี้ ก็จะว่าไม่ชัด จะถามได้ว่า ภัยอะไร ภัยที่ไหน ท่านจึงบอกไว้ด้วยว่าภัยอะไร ตรงนี้ ในคัมภีร์ส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าแทบทั้งนั้น บอกว่าภัยในสังสารวัฏ ดังวิเคราะห์ที่ว่า สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังสารวัฏ) หมายความว่า ภัย คือ ความเกิดแก่ เจ็บ ตาย นั้น มีอยู่ในสงสารทั้ง ๓ คือ
สงสารเบื้องต่ำ ได้แก่ อบาย ๔
สงสารเบื้องกลาง ได้แก่ มนุษย์กับเทวดา
สงสารเบื้องบน ได้แก่ พรหมโลก

ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า สงสารทั้ง ๓ นี้ เต็มไปด้วยภัยดังกล่าวมานั้น จึงพยายามหาทางหลุดพ้น แต่บางคัมภีร์บอกต่างออกไป กลายเป็นวิเคราะห์ว่า สงฺขาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังขาร) ชื่อว่า ภิกษุ หมายความว่า สังขารนั้น คือ สกลกายของแต่ละบุคคล ย่นให้สั้น ได้แก่ รูป กับ นาม สัตว์โลกพากันเดือดร้อนอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เพราะมีรูปกับนาม คือสังขาร ถ้าไม่มีสังขารเสียแล้ว ภัยต่าง ๆ เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ก็ไม่มีเป็นอันขาด ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า รูปนามเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลก แล้วพยายามหาทางหลุดพ้น ชื่อว่า ภิกษุ ที่ว่าเห็นภัยในสังสารวัฏนั้น เข้าใจง่าย แต่ที่ว่าเห็นภัยในสังขาร ดูเหมือนว่าเป็น ความหมายที่ลึกเข้าไปอีกหน่อย พูดให้สั้นว่า เมื่อภิกษุเห็นภัยในสังขารแล้ว ก็พยายามที่ จะประพฤติปฏิบัติบําเพ็ญสมณธรรม เพื่อให้พ้นจากสังขาร ไปสู่วิสังขาร (คือนิพพาน) ความหมายอย่างนี้ ก็เป็นแง่นามธรรม

ทีนี้ก็มีอีกวิเคราะห์หนึ่ง ที่อยู่ในฝ่ายรูปธรรม คล้ายๆ กับที่ว่ามาจาก “ภิกฺข” คือ ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอภิกษา เป็นเรื่องอาหาร คราวนี้เป็นเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ท่านว่า ภิกขุ นั้นมาจาก “ภิท” (ธาตุ-รากศัพท์นี้ มีรูปกริยาช่องสามเป็น “ภินฺน”) ซึ่งแปลว่าทําลาย เช่น ตัด ฉีก ทุบ ผ่า ก็ได้ ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะครองผืนผ้าที่ตัดฉีกแล้ว) นี่คือเป็นผู้ทรงหรือครองผ้าที่ฉีกๆ ขาดๆ เอามาตัดต่อ เย็บติดกัน เต็มไปด้วยรอยตะเข็บ ไม่สวยไม่งาม ไม่เรียบไม่รื่น อย่างบังสุกุลจีวร ที่เคยเล่าว่า พระไปเที่ยวเก็บเอาผ้า ที่เขาทิ้ง เป็นเศษเป็นชิ้นมา แล้วก็มาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อม ทําเป็นจีวร เพราะฉะนั้น ผ้าของท่านจึงเป็นชิ้นเป็นแผ่น คือมาจากเศษผ้า หรือมีลักษณะอย่างเศษผ้านั่นเอง ทีนี้ “ภิท” ธาตุ ที่แปลว่าทําลายนั่นแหละ เมื่อกี้ใช้ในความหมายที่เป็นรูปธรรม คือทําลายผืนผ้า ทีนี้ ท่านให้ความหมายทางนามธรรมบ้าง แทนที่จะทําลายตัดฉีกผ้า ก็เปลี่ยนเป็นทําลายกิเลส ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนตฺตา ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมแล้ว)

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะกำจัดอกุศลธรรมอันลามก หมายความว่า กำจัดอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่  โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ กับเจตสิกฝ่ายอกุศลที่เกิดร่วมกับจิตนั้นอีก ๒๗ ว่าตามวิเคราะห์นี้ ภิกษุต้องเป็นพระอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จึงมีอีกวิเคราะห์ หนึ่ง ซึ่งแสดงความหมายผ่อนลงมาว่า ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ. หรือสั้นๆ ว่า : กิเลเส ภินฺทตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรม, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายกิเลส) หมายความว่า กิเลสนั้นมีมาก เช่น กิเลส ๓ กิเลส ๑๐ กิเลส ๑๕๐๐ ถ้าผู้ใดปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสดังกล่าวมานี้ ผู้นั้น ชื่อว่า เป็นภิกษุ

ถ้าอย่างนี้ แค่กําลังทําลายกิเลส ก็หมายถึงพระที่ยังอยู่ในอริยมรรค ความหมายแบบนี้ มุ่งเอาคุณสมบัติในระดับสูง บ่งชี้ว่าต้องบําเพ็ญไตรสิกขา ได้ผลก้าวหน้า จึงทําลายกิเลสได้ หันมาดูด้านพระวินัย ท่านไม่วิเคราะห์ศัพท์ ไม่พูดถึงคุณสมบัติภายในอะไรทั้งนั้น ท่านให้ความหมายในทางปฏิบัติ ว่าไปตามรูปแบบที่มองเห็น ซึ่งเกี่ยวข้องจัดการได้ในชีวิตประจําวัน ในสังคม ดังนั้น เมื่อว่าตามคําจํากัดความในทางวินัย ภิกษุก็คือ ผู้ที่ได้รับการอุปสมบทเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวินัยจะเอาความหมายแค่รูปธรรมตามรูปแบบที่มองเห็นกันง่ายๆ แต่ก็ต้องใช้ถ้อยคําที่แสดงความหมายนั้นตรงจําเพาะ แน่นอน ชัดเจน ไม่ให้ดิ้นได้ ดังนั้น ท่านจึงมิได้บอกเพียงแค่ว่า ภิกษุคือผู้ที่อุปสมบทแล้ว แต่ท่านใช้ถ้อยคําที่ชี้ชัด จํากัดจําเพาะ จึงกลายเป็นข้อความที่ยาวหน่อย ดังได้ยกมาให้ดูข้างต้นแล้ว ที่ว่า “ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ” ที่ว่าอุปสมบทนั้น หมายถึงว่า ได้เข้าสู่สังฆกรรม โดยที่ประชุมสงฆ์มีมติพร้อมกัน รับเข้ามา เป็นความหมายตามวินัย ซึ่งเป็นรูปแบบ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็เป็นภิกษุที่มาอยู่ในสงฆ์ เป็นสมาชิกแห่งสงฆ์ ที่เรียกว่า สมมุติสงฆ์ ว่าในเชิงสังคม ก็เท่านี้ คือ ยึดถือตาม รูปแบบเคร่งครัด เช่น จะแต่งตั้ง หรือจะลงโทษ ก็ว่าไปตามบทบัญญัติกฎกติกา อย่างไรก็ตาม เมื่อจะเอาสาระกันจริงๆ ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปแบบ ที่ว่า ปลงผม ห่มเหลือง อย่างที่พูดกันว่า โกนหัวนุ่งเหลือง ได้อุปสมบทมาแล้วเท่านั้น แต่ในความหมายที่เป็นเนื้อหาสาระ ยังต้องว่ากันต่อไปอีก

ในวินัย ถือรูปแบบสําคัญ ยึดตามที่สั่ง ทีนี้พอเข้ามาในพระสูตร ที่นี่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คราวนี้เป็นการสอน ทรงสอนคนไม่ให้อยู่แค่รูปแบบ แต่ให้ก้าวไปในสาระ ถึงตอนนี้ เราก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสตักเตือนแนะนําต่างๆ เช่นตรัสว่า ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่ที่การโกนหัวนุ่งห่มเหลืองเข้าพิธีบวชมาเท่านั้น แต่อยู่ที่การปฏิบัติตามหลักการ ได้แก่การบําเพ็ญไตรสิกขา เริ่มตั้งแต่การที่ได้ประพฤติห่างไกลจากการเบียดเบียน อย่างที่ได้ยกพุทธพจน์ ที่เป็นคาถาธรรมบท มาให้ดูทีหนึ่งแล้ว ซึ่งบอกว่า แม้จะ แต่งกายสวมใส่อาภรณ์ แต่ถ้าประพฤติสงบ เป็นผู้ที่ฝึกตน เป็นผู้แน่วแน่ต่อมรรคาแห่งชีวิตที่ดีงาม ดําเนินชีวิตประเสริฐ เป็นผู้วางอาชญาแล้วในสัตว์ทั้งปวง คือไม่เบียดเบียนใคร คนอย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นภิกษุ เป็นสมณะ ก็ได้ทั้งสิ้น นี่คือไม่ถือรูปแบบกันละ เอาสาระกันเลย ถึงจะไม่ได้บวช ทั้งที่เป็นชาวบ้าน แต่งตัว ประดับกาย มีเสื้อผ้าอาภรณ์นี่แหละ แต่ถ้าเขามีจิตใจอย่างที่ว่านี้ ประพฤติ ตัวอย่างที่ว่านี้ จะเรียกเขาเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพวกพราหมณ์มาก เฉพาะอย่างยิ่งที่ตรัสว่า ความเป็นพราหมณ์ ที่ถือว่าเป็นคนประเสริฐเลิศกว่าใครนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การได้เกิดใน วรรณะพราหมณ์ คนมิใช่เป็นพราหมณ์ มิใช่เป็นคนเลิศประเสริฐ โดยชาติกําเนิด ความเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่อยู่ที่การถือพรตปฏิบัติตามแบบแผนของวรรณะ อย่างที่พราหมณ์ บัญญัติกันไว้ แต่ความเป็นพราหมณ์อยู่ที่การกําจัดสิ่งชั่วร้ายในตัว ละกิเลสได้แล้ว พราหมณ์ถือว่าพวกตนเป็นผู้ลอยบาปแล้ว เวลาจะลอยบาป เขาก็ลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์ เฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ําคงคา เดี๋ยวนี้ก็ยังไปอาบกันอยู่ ลองไปอินเดีย ไปดูที่เมือง พาราณาสี จะเห็นคนอินเดียมากมายลงไปอาบน้ําลอยบาป ล้างบาปกันในแม่น้ําคงคา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าท่านลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์แล้ว บาปมันลอยไปได้ เต่า ปลามันคงหมดบาปไปก่อนพวกท่าน และตรัสด้วยว่า ถ้าแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์พาเอาบาปของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ มันก็ต้องพาบุญของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ด้วยเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การจะลอยบาปล้างบาปได้จริง ไม่ใช่มาลอยมาล้างในแม่น้ําอย่างนี้ แต่ต้องลอยหรือล้างด้วยน้ําแห่งธรรม คือการชําระล้างตัวเอง ด้วยการฝึก การศึกษาพัฒนาตน ขัดเกลากิเลสของตัวเอง ละเลิกบาปกรรม เพิ่มพูนกุศลธรรม บําเพ็ญบุญกิริยา หรือเจริญไตรสิกขา พระพุทธเจ้าจึงประทานความหมายของการลอยบาปให้ใหม่ ไม่ใช่ไปลอยใน แม่น้ําคงคา แต่หมายถึงลอยบาปด้วยการกําจัดออกไปจากตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงตรัส เรียกพระอรหันต์ว่าเป็นพราหมณ์ เป็นการสร้างความหมายเชิงสาระ ไม่เอาแค่รูปแบบ นี่คือที่ตรัสว่า คนไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติกําเนิด แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม คือการกระทํา ข้อความในคัมภีร์อรรถกถาว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา,ภิกฺขูติ สงฺขํ คจฺฉติเยว. (ที.อ.๒.๓๗๐) "ที่จริงแล้ว เทวดาหรือมนุษย์ก็ตามผู้เพียรปฏิบัติอยู่ ย่อมถึงการนับว่าเป็นภิกษุโดยแท้" เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตาติ เทฺว อิเม ภิกฺขเว โกฏฺฐาสา. (สํ.อ.๓.๓๗๙) "พระดำรัสว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ส่วนทั้ง ๒ อย่างนี้"
ถ. คนอื่น ๆ เช่น เทวดา มนุษย์ ผู้ยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อมอยู่ จะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุหรือไม่
ต. ชื่อว่า เป็นภิกษุได้
ถ. เพราะเหตุไร ?
ต. เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. เสฏฺฐตฺตา เพราะความเป็นผู้ประเสริฐด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
๒. ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต เพราะชี้ให้เห็นว่า เป็นภิกษุ ด้วยการปฏิบัติ
ถ. มีอะไร เป็นหลักอ้าง จึงตอบเช่นนี้ ?
ต. มีหลักอ้างอันปรากฏอยู่ใน อรรถกถามหาสติปัฏฐานว่า เสฏฺฐตฺตา ปน ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต จ ภิกฺขูติ อาห จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ถ้ายังข้อปฏิบัติให้เกิดขึ้นอยู่ ผู้นั้นกล่าวได้ว่า เรียกได้ว่า เป็นภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ และแสดงความเป็นภิกษุด้วยข้อปฏิบัติ ดังนี้
ถ. บรรดาบริษัท ๔ นั้น บริษัทไหนเป็นผู้ที่จะรับโอวาททานุสาสนีขององค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด ? เพราะเหตุไร ?
ต. ภิกษุบริษัท เป็นผู้ที่จะรับโอวาทนุสาสนีของสมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ
    ประการที่ ๑ เพราะท่านเป็นอุตตมเพศ เป็นเพศที่สูงส่งอยู่แล้ว
    ประการที่ ๒ เพราะท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นภาชนะแห่งอนุสาสนีของพระพุทธองค์ทุกประการ
    ประการที่ ๓ เพราะเมื่อท่านรับเอาโอวาทนุสาสนีมาปฏิบัติตามแล้ว บริษัททั้ง ๓ ที่เหลือ ก็จะได้ถือเอา    เป็นทิฏฐานุคติต่อ ๆ ไป โดยไม่ยาก
    ประการที่ ๔ เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการที่จะธำรงไว้ซึ่งอนุสาสนี อันเป็นมรดกของพระพุทธองค์ที่ทรงประทานไว้แก่เหล่าพุทธสาวก
    ประการที่ ๕ เพราะสละเพศของฆราวาสอันคับแคบมาสู่ของสมณะอันสงบ มีโอกาสที่จะศึกษาปริยัติ ลงมือปฏิบัติ ให้เกิดปฏิเวธได้ดีที่สุด
    ประการที่ ๖ เพราะมีภาระและมีปลิโพธิกังวลอันตัดออกมากแล้ว เครื่องผูกต่างๆ เช่น บุตร ภรรยา ไม่มี เพราะเหตุดังนี้ ภิกษุบริษัทจึงถือว่า เป็นบริษัทที่เลิศที่ประเสริฐสุด ในพระพุทธศาสนา สามารถรับโอวาทานุสาสนี เป็นศาสนทายาท สืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาสถาพรสืบ ๆ ไป ตลอดกัลปาวสานต์
ถ. ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะทำอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ?
ต. ต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ที่ตอบมานี้มีอะไรเป็นหลักหรือค้นเดาเอาเอง ?
ต. มิได้ค้นเดาเอาเองเลย มีหลักฐานปรากฏยืนยันอยู่ คือ ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า โย จ อิมํ ปฏิปตฺติ ปฏิปชฺชติ โส ภิกฺขุ นาม โหติ จริงอยู่ ท่านผู้ใด ลงมือปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐานนี้ ท่านผู้นั้นชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ถ้าถือตามนี้ก็ได้ความว่า จะเป็นใคร ๆ ก็ตาม เช่น เป็นเทวดาก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม ถ้าได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานนี้ นับว่า เป็นภิกษุได้ทั้งนั้น ใช่หรือไม่ ?
ต. ใช่แล้ว นับว่าเป็นภิกษุได้เหมือนกัน
ถ. ที่ตอบเช่นนั้นมีอะไรเป็นหลักฐานอ้างอิงบ้างหรือไม่ ?
ต. มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก และอรรถกถา เช่น ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๔ ที่ ๕ ว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา ภิกฺขูติ สํขยํ คจฺฉติเยว จริงอยู่ ผู้ที่ได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้แล้ว จะเป็นเทวดาก็ตามจะเป็นมนุษย์ก็ตาม ถึงการนับว่า เป็นภิกษุได้เหมือนกัน ดังนี้
ถ. ขอให้ยกตัวอย่างมาประกอบอธิบายว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้เป็นสักขีพยาน สืบต่อไป ?
ต. ตัวอย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้มีอยู่มาก เฉพาะในที่นี้จะได้นำมาแสดงเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ ความว่า สันตติมหาอำมาตย์นั้น ได้ลงมือปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ ทั้ง ๆ ที่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องแบบของนายทหารอย่างเต็มยศ ก็ปรากฏว่า ได้บรรลุพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล ในที่เฉพาะพักตร์ของสมเด็จพระทศพลและภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งบริวารชนเป็นอันมาก แล้วก็ปรินิพพานบนอากาศ ภิกษุทั้งหลายจึงประชุมสนทนากันว่า จะเรียกสันตติมหาอำมาตย์ว่า สมณะ หรือ พราหมณ์ จึงจะถูก จึงจะควร ดังนี้ ในทันทีทันใดนั้น สมเด็จพระจอมไตรก็ได้เสด็จมาตรัสถามว่า พวกเธอสนทนากันเรื่องอะไร ? เมื่อทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสว่า “สมโณปิ วตฺตํ วฏฺฏติ พฺราหฺมโนปิ วตฺตํ วฏฺฏติเยว” จะเรียกว่า สมณะก็ได้ จะเรียกว่าพราหมณ์ก็ได้ แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นหลักฐานไว้ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ และธรรมบทภาค ๕ ว่า อลงฺกโต เจปิ สมญฺจเรยฺย สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ ถึงแม้ว่าบุคคลจะประดับตกแต่งเครื่องแบบอย่างเต็มยศ แต่ปรากฏว่ามีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ สุภาพ เรียบร้อยดี เป็นผู้สงบ ฝึกตนดีแล้วเที่ยงต่อมรรค ๔ ประพฤติประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทุก ๆ หมู่เหล่า ผู้นั้นเรียกว่า พราหมณ์ก็ได้ เพราะลอยบาปได้แล้ว เรียกว่า สมณะก็ได้ เพราะบาปสงบแล้ว เรียกว่า ภิกษุก็ได้ เพราะทำลายกิเลสหมดแล้ว ดังนี้.

เรียบเรียงและอ้างอิงจาก :-
๑.หนังสือชื่อ ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ภาค ๒ หน้า ๑๕๕ - ๑๖๐ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ ปยุตฺโต) ๒.ความหมายของคำว่า "ภิกษุ" - ธรรมบรรยาย โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) ครั้งที่ ๑๑๓ บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ เรื่อง มหาสติปัฏฐาน. (ข้อว่า ภิกฺขเว ภิกฺขุ) ๓.พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ภัยในวัฏสงสาร วัดยานนาวา



วิกิ

ผลการค้นหา