อาสันนกรรม หมายถึง กรรมที่ทำไว้เมื่อใกล้จะตาย เป็นการระลึกถึงสิ่งที่ดีหรือไม่ดีในเวลาใกล้ตาย หรือการกระทำที่ดีหรือไม่ดีในเวลาใกล้จะตาย องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘
ในการให้วิบากปฏิสนธิ ถ้าหากว่าครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมนั้นแหละจะให้ผลก่อน เพราะอยู่ใกล้ปาก ทาง คือ ความตาย อุปมาดังนี้ ในตอนเย็นก็ต้องต้อนฝูงโคกลับเข้าคอก โคที่แข็งแรงทั้งหมดก็เดินเข้าคอกไปได้ก่อนโคแก่ที่อ่อนกำลัง โคแก่เดินเข้าคอกได้เป็นลำดับสุดท้าย ก็ปิดประตูคอกได้ เมื่อถึงเวลาเช้าเปิดประตูคอกแล้ว ถึงแม้โคที่มีกำลังมีอยู่มากหลายตัวแต่ทั้งหมดก็ออกจากคอกไม่ได้ มีแต่โคแก่เท่านั้นที่จะได้โอกาสออกจากคอกก่อนเพราะว่าอยู่ตรงใกล้ปากประตูคอก ฉันใด ก็ฉันนั้น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมทั้งหลาย เมื่อครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมนั่นแหละย่อมให้ผลก่อน เพราะเหตุว่าอยู่ใกล้ปากทางแห่งความตายนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น พระนางมัลลิกาทำกุศลไว้มาก แต่ในเวลาใกล้ตายนางนึกถึงอกุศลที่เคยทำไว้แล้วอกุศลที่นึกถึงในขณะใกล้ตายนั้นเอง เป็นอาสันนกรรมนำให้นางไปเกิดในนรก กุศลที่ทำไว้ไม่มีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในกามสุคติภูมิ หรือบางคนกำลังมีความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ ดูหนังดูละคร รับประทานอาหารอย่างเฮฮากับเพื่อนฝูง หรือบางคนกำลังทำมิจฉาอาชีพมีการลักทรัพย์เป็นต้น เหล่านี้จัดเป็นอกุศลทั้งสิ้น ถ้าในขณะนั้นมีเหตุที่ต้องเสียชีวิตลง อกุศลเหล่านั้นก็เป็นอกุศลอาสันนกรรม สามารถนำไปเกิดในอบายภูมิ หรือ บุคคลเมื่อตอนใกล้ตายมีอดีตกรรมที่เคยทำไว้มาเป็นเครื่องให้ระลึกถึงว่าเคยฆ่าสัตว์ ฯลฯ หรือ บางบุคคลเมื่อตอนใกล้ตายมีลูกหลานทะเลาะกันอาจจะแย่งสมบัติกัน หรือตัวเองห่วงทรัพย์สมบัติ อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย นั้นคือกรรมที่เป็นอาสันนกรรม ย่อมนำไปสู่ทุคติได้ อาสันนกรรมจึงเป็นกรรมที่สำคัญ จะให้ผลก่อนกรรมอื่นๆเว้นไว้แต่กรรมที่เป็นครุกกรรม