๐๗. เสวยวิมุตติสุข

หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข (คือการพบสุขที่เกิดเพราะความหลุดพ้น จากกิเลส) อยู่ในที่ ๗ แห่งๆ ละ ๗ วัน ดังนี้

สัปดาห์แรก
ประทับนั่งสมาธิที่วัชรอาสน์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน พระพุทธองค์ได้กำหนดนึกในใจ เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องราว โดยตามลำดับ ตลอดปฐมยามแห่งราตรีนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า "ในการใดแล ธรรมทั้งหลาย มาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ"(เหตุแห่งทุกข์)

ในเวลากลางคืน ทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท แบบย้อนตามลำดับ คือพิจารณาจากปลายมาจุดเริ่มแรกแล้วมีพุทธอุทานว่า "ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย"(ทางดับทุกข์)

ในปัจฉิมยาม ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งตามลำดับและ ย้อนตามลำดับแล้วมีพุทธอุทานขึ้นว่า "ในกาลใดแลธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้นพราหมณ์ผู้นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดมืดส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น"(หมดสิ้นกิเลสเข้าสู้ทางนิพพาน)


สัปดาห์ที่สอง
อนิมิสเจดีย์-ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดพระเนตร ก็ทรงหันกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้นั้น ทรงลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอดสัปดาห์ เพื่อทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ ความหมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขารจักรก็มาหยุดลงแค่นี้ ต้นมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทรงพอพระทัยในการตรัสรู้นี้เป็นอย่างยิ่ง สถานที่นี้จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่สาม
เสด็จมาเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน ตรงระหว่างกลางแห่งอนิมิสเจดีย์กับต้นศรีมหาโพธิ์ ทางด้านเหนือของวิหาร ที่ตรงนั้นเขาก่อฐานปูนสูงขึ้นประมาณ ๔ ฟุต จากพื้นถนน แล้วสลักหินเป็นรูปดอกบัวโตพอประมาณ ๑๙ ดอก แสดงว่าเป็นทางเดินจงกรมของพระพุทธองค์เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่สี่
เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นโพธิ์ เสด็จนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้นเจ็ดวัน สถานที่นี้เรียกว่ารัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ห้า
เสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ ประทับอยู่เจ็ดวันขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามารสามตน คือ ราคะ อรตี และตัณหา ได้อาสาพ่อเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา พระองค์กลับไล่ไปเสียแสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก

สัปดาห์ที่หก
ทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขที่สระมุจลินท์ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ไม้จิก ปัจจุบันทั้งสระน้ำมุจลินท์และต้นมุจลินท์ไม่มีให้เห็นแล้ว มีแต่สระมุจลินท์จำลองที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณวิหารพุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระดั้งเดิม) และเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้นจึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์ เมื่อพระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขได้ ๗ วัน ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นจิกริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว ฝนตกพรำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน ร้อนถึงพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (นี้เป็นกำเนิดของพระพุทธรูปางนาคปรก) ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจดังนี้

"ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมแล้วยินดีอยู่ในสงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง"

สัปดาห์ที่เจ็ด
ตลอด ๖ สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ชำระล้างพระพักตร์ ไม่ได้ปฏิบัติพระสรีระ และไม่มีกิจด้วยพระกระยาหาร ด้วยทรงยับยั้งกิจทั้งปวงนี้อยู่ด้วยฌานสุข มรรคสุข และผลสุข ในสัปดาห์สุดท้ายของการเสวยวิมุตติสุข พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) พระอินทร์ลงมาถวายผลสมออันเป็นทิพยโอสถ ไม้สีทนต์ชื่อ “นาคลดา” และน้ำบ้วนพระโอษฐ์จากสระอโนดาต จากนั้นตปุสสะและภัลลิกะ สองพ่อค้าหนุ่มได้เข้าเฝ้าพร้อมกับถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนเพื่อเป็นภัตตาหาร

ครั้งนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่องค์ได้ถวายบาตรศิลาแด่พระพุทธเจ้าองค์ละ ๑ ใบ พระพุทธเจ้าทรงรับและอธิษฐานให้บาตรทั้งสี่ใบรวมกันเป็นใบเดียว จากนั้นพระพุทธองค์ทรงใช้บาตรนั้นรับสัตตุผงและสัตตุก้อนที่พ่อค้าสองคนนำมาถวาย ครั้นแล้วพ่อค้าทั้งสองคนจึงได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต ทั้งสองจึงกลายเป็น “พุทธมามกะคู่แรก” ของโลก

เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่ ๗ นี้แล้ว เสด็จกลับไปประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้ คือ ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน แล้วตัดสินพระทัยที่จะไม่แสดงธรรม ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหมต้องเร่งมากราบทูลอาราธนาขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดคนที่สามารถโปรดได้


เรื่องราวการเสวยวิมุตติสุขตลอดทั้งเจ็ดสัปดาห์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะ พระจริยวัตรของพระพุทธเจ้าหลายประการ อันได้แก่ ความเป็นโลกุตระ (ความอยู่เหนือโลก) การเป็นผู้ชนะกิเลสทั้งปวงหรือผู้ปราศจากกิเลส และการกตัญญูรู้คุณ



ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

วิกิ

ผลการค้นหา