๒. จิตคืออะไร

จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทางกายและรู้สึกนึกคิดทางใจ จิต นี้ไม่ว่าจะเกิดแก่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็ตาม ย่อมมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีการรู้อารมณ์เหมือนกันทั้งสิ้น 
จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ด้วยกาย ไม่มีรูปร่างสัณฐาน สีสัน วรรณะใดๆ แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริง เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติฝ่ายนามธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยเหตุอาศัยปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามกฎธรรมชาติ
อำนาจของจิตมีอยู่มากมาย เช่น มีอำนาจในการกระทำ การพูด การคิด การสั่งสมกรรมดี กรรมชั่ว นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการสร้างฤทธิ์ ทำสมาธิ ทำฌาน ทำอภิญญา และอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์
จิต จะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว จิตจะมีการเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ คือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ครั้ง (หนึ่งล้านล้านครั้ง) จึงเป็นการยากที่บุคคลจะรู้เท่าทันได้
สถานที่เกิดของจิตมีอยู่ด้วยกัน ๖ แห่ง คือ
๑. ที่ตา เพื่อทำหน้าที่เห็นรูปที่ปรากฏทางตา จิตนี้มีชื่อว่า จักขุวิญญาณ (จักขุ = ตา)
๒. ที่หู เพื่อทำหน้าที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู จิตนี้มีชื่อว่า โสตวิญญาณ (โสต = หู)
๓. ที่จมูก เพื่อทำหน้าที่รู้กลิ่น ที่ปรากฏทางจมูก จิตนี้มีชื่อว่า ฆานวิญญาน (ฆาน = จมูก)
๔. ที่ลิ้น เพื่อทำหน้าที่รู้รส ที่ปรากฏทางลิ้น จิตนี้มีชื่อว่า ชิวหาวิญญาณ (ชิวหา = ลิ้น)
๕. ที่กาย เพื่อทำหน้าที่รับความรู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทาง กาย จิตนี้มีชื่อว่า กายวิญญาณ
๖. ที่ใจ เพื่อทำหน้าที่ รู้สึก นึก คิด ทางใจ จิตนี้มีชื่อว่า มโนวิญญาณ (มโน = ใจ)

ดังนั้น จิต หรือ วิญญาณ จึงหมายถึงสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ จิต ยังมี ชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น หทัย ปัญฑระ มโน มนัส มนินทรีย์ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ วิญญาณขันธ์ มนายตนะ เป็นต้น จึงขอให้เข้าใจว่า แม้จะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม ชื่อเหล่านั้นก็คือ จิต นั่นเอง




วิกิ

ผลการค้นหา