๕. ลักษณะของจิต

คำว่าลักษณะนี้ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาใช้เรียกทั้งบัญญัติและปรมัตถ์ โดยมีหลักการแบ่งเป็นหลักอยู่ดังนี้

๑. ถ้าเป็นปรมัตถธรรม มีสภาวะอยู่จริง เรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ หรือ วิเสสลักษณะ เช่น การรับรู้เป็นลักษณะของจิต เพราะทำให้เราสามารถกำหนดเจาะจงลงไปได้ว่า “นี้เป็นจิต ไม่ใช่ดิน” เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าลักษณะแบบนี้ก็คือตัวสภาวะนั้นๆนั่นเอง เพราะสามารถกำหนดหมายลงไปได้ด้วยตัวเอง เช่น จิตก็คือการรับบรู้-การรับรู้ก็คือจิต เป็นต้น ฉะนั้น ท่านจึงตั้งชื่อว่า ปัจจัตตลักษณะ(ปฏิ+อัตต+ลักขณะ) แปลว่า เอกลักษณ์, เอกลักษณ์เฉพาะตัว, สัญลักษณ์ส่วนตัว

๒.ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีสภาวะอยู่จริง เรียกว่า “บัญญัติ” เช่น อนิจจลักษณะเป็นลักษณะของขันธ์ ๕ เพราะทำให้เราสามารถกำหนดเจาะจงลงไปได้ว่า “สิ่งนี้เป็นตัวอนิจจัง(ขันธ์) ไม่ใช่นิพพาน” เช่นเดียวกัน นิจจลักษณะก็เป็นลักษณะของนิพพาน เพราะทำให้เราทราบได้ว่า “สิ่งนี้เป็นนิพพาน ไม่ใช่ขันธ์” คำว่า “จักขุปสาท” เป็นลักษณะของตัวจักขุปสาท เพราะทำให้เราระลึกถึงจักขุปสาทนั้นได้ เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทราบถึงตัวสภาวะได้(เช่นคำว่า “จักขุปสาท”) หรือไม่ก็สามารถจะทำให้ทราบถึงบัญญัติที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสภาวะได้ (เช่น อนิจจลักษณะ) เป็นต้น อนึ่ง ไตรลักษณ์ ก็จัดเข้าในลักษณะประเภทที่ ๒ นี้ด้วย เพราะท่านระบุไว้ว่าเป็นบัญญัติ
จิตมีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อนิจจลักษณะ คือ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลง (เกิด-ดับ) อยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือ มีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป)
๓. อนัตตลักษณะ คือ มีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่อยู่ใน อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด จะ บังคับให้หยุดการเกิดดับก็ไม่ได้

สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” รูปธรรม และนามธรรมทั้งหลายอันได้แก่ รูป จิตและ เจตสิก ย่อมจะต้องมีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด นอกจากจิตจะมีลักษณะสามัญตามที่กล่าวมาแล้ว จิตยังมีลักษณะพิเศษ เฉพาะตัว(วิเสสลักษณะ) อีก ๔ ประการ คือ
๑. มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
๒. เป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ
๓. มีการเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสายเป็นผล
๔. มีอดีตกรรม ทวาร อารมณ์และเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้จิตเกิดขึ้น


การทำงานของจิต
การทำงานของจิตจะเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ในพระสูตร ตอนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีใจความว่า “ยากที่จะนำสิ่งอื่นๆ ทั้งหลายในโลก มาเปรียบเทียบกับความเกิดดับอันรวดเร็วของจิต เพราะจิต เกิดดับๆรวดเร็วกว่าสิ่งใดๆ ในโลก เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตจะเกิดดับถึง แสนโกฏิขณะ หรือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดวง (หนึ่งล้านล้านดวง) ”

ที่ว่าจิตมีการเกิดดับสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย เพราะจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้นจิตดวงที่ ๒ ก็จะเกิดขึ้นติดต่อกันแล้วก็ดับไปอีก เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ดังในภาพ
ภาวะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันเป็นกระแสนี้ท่านเรียกว่า สันตติ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับกระแสน้ำที่ประกอบไปด้วยอณูของน้ำเล็กๆ เรียงติดต่อกันเป็นสาย ขณะที่กระแสจิตไม่ออกมารับรู้เรื่องราว (อารมณ์) ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่นเวลานอนหลับ จิตในขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำหน้าที่ รักษารูปนามในภพปัจจุบันไว้มิให้แตกทำลายไป จนกว่าจะสิ้นอายุจากภพนี้
แม้ในขณะหลับสนิท (ไม่มีการฝัน) หรือสลบไป ก็จะมีภวังคจิตเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา อารมณ์ของภวังคจิตเป็นอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในอดีตภพ เมื่อใดก็ตามที่จิตออกมารับรู้เรื่องราว(อารมณ์) ทางประตู(ทวาร) ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นจิตจะขึ้นสู่วิถีซึ่งเรียกว่า วิถีจิต และ เมื่อสิ้นสุดแต่ละวิถีก็จะมีภวังคจิตที่คอยรักษาภพชาติ เกิดคั่นอยู่ทุกครั้ง แต่ เราจะไม่รู้สึกตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว มาก



วิกิ

ผลการค้นหา