๕. โลกุตตรจิต ๘ ดวง


โลกุตฺตร มาจากคำว่า โลก+อุตฺตร
โลก หมายถึง กามโลก (กามภูมิ) รูปโลก (รูปภูมิ) และอรูปโลก (อรูปภูมิ)
อุตฺตร หมายถึง เหนือ หรือพ้น ฉะนั้น คำว่า โลกุตตร จึงหมายถึงธรรมที่เหนือโลกทั้ง ๓ ธรรมที่พ้นจากโลกทั้ง ๓ อันหมายถึง นิพพาน ดังนั้น โลกุตตรจิต จึงหมายถึง จิตที่มี นิพพานเป็นอารมณ์

โลกุตตรจิตนั้นมี ๒ ชาติ คือ ชาติกุศล เรียกว่า โลกุตตรกุศลจิต หรือ มรรคจิต มีจำนวน ๔ ดวง ชาติวิปาก เรียกว่า โลกุตตรวิปากจิต หรือ ผลจิต มีจำนวน ๔ ดวง เช่นกัน รวมเป็น โลกุตตรจิต ๘ ดวง

โลกุตตรกุศลจิต หรือมัคคจิต ๔ ดวง
โลกุตตรกุศลจิต หรือ อีกนัยหนึ่ง เรียกว่า มัคคจิต เป็นจิตที่พ้นโลก เป็นจิตที่ประหาณอนุสัยกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน กล่าวโดยย่อ มีจำนวน ๔ ดวง คือ
ดวงที่ ๑ โสดาปัตติมัคคจิต
ดวงที่ ๒ สกทาคามิมัคคจิต
ดวงที่ ๓ อนาคามิมัคคจิต
ดวงที่ ๔ อรหัตตมัคคจิต

โลกุตตรวิปากจิต หรือผลจิต ๔ ดวง
โลกุตตรวิปากจิต หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ผลจิต เป็นจิตที่เป็นผลของโล กุตตรกุศลจิต เป็นจิตที่พ้นจากโลก เป็นจิตที่ประหาณแล้วซึ่งอนุสัยกิเลส เป็นปฏิปัสสัทธิปหาน คือละได้โดยสงบ เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นและดับลงแล้ว ผลจิตก็จะเกิดติดต่อกันทันทีทันใด โดยไม่มีระหว่างคั่น คือ ไม่มีจิตใดเกิดขึ้นมาคั่นเลย ดังนั้นจึงเรียกมัคคจิตว่า “ อกาลิโก” เพราะเป็นเหตุให้ผลจิตเกิดขึ้นในปัจจุบันทันที ไม่ต้องรอกาล รอเวลา ผลจิต ๔ เมื่อกล่าวโดยย่อ มีจำนวน ๔ ดวง คือ
ดวงที่ ๑ โสดาปัตติผลจิต
ดวงที่ ๒ สกทาคามิผลจิต
ดวงที่ ๓ อนาคามิผลจิต
ดวงที่ ๔ อรหัตตผลจิต

เมื่อโสดาปัตติมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด โสดาปัตติผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็นโสดาบันบุคคล
เมื่อสกทาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด สกทาคามิผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็น
สกทาคามีบุคคล
เมื่ออนาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด อนาคามิผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็น อนาคามีบุคคล
เมื่ออรหัตตมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด อรหัตตผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็น
อรหันตบุคคล


กิเลส ๓ ระดับ
กิเลสทั้งหมดจะเข้าประกอบเฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น การประหาณกิเลสก็คือการประหาณอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงนั้นเอง กิเลสแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ การประหาณกิเลสแต่ละระดับจะต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันดังนี้

๑. วีติกกมกิเลส คือ กิเลสอย่างหยาบ ที่แสดงออกมาทางกายหรือทางวาจา กิเลสชั้นนี้ระงับไว้ได้ด้วยศีล สงบได้เป็นครั้งคราวขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่ การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า ตทังคปหาน
๒. ปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสอย่างกลาง ที่เกิดอยู่ภายในใจไม่ถึงกับแสดงออกมาทางกาย หรือวาจา ตัวเองรู้ได้ ผู้อื่นบางทีก็รู้ บางทีก็ไม่รู้ กิเลสชนิดนี้สามารถข่มไว้ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ (อัปปนาสมาธิ) เป็นเวลานานตราบเท่าที่สมาธิยังไม่เสื่อม การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
๓. อนุสัยกิเลส คือ กิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของตนเอง และผู้อื่นก็ไม่สามารถรู้ได้นอกจากพระพุทธองค์เท่านั้น ต้องประหาณด้วยปัญญาในมัคคจิตทั้ง ๔ อันเป็นการประหาณได้โดยสิ้นเชื้อ และจะไม่กลับมีขึ้นอีก การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า
สมุจเฉทปหาน
การประหาณกิเลสของพระอริยบุคคล
โสดาปัตติมัคคจิต ประหาณโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยความสงสัย ๑ ดวง
สกทาคามิมัคคจิต ประหาณกิเลสที่เหลือให้มีกำลังเบาบางลง
อนาคามิมัคคจิต ประหาณโทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง
อรหัตตมัคคจิต ประหาณโลภมูลจิต ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และ โมหมูลจิตที่ประกอบด้วยความฟุูงซ่าน ๑ ดวง
รวมมัคคจิต ๔ ดวง ประหาณอกุศลจิตได้ ๑๒ ดวง จึงไม่มีโอกาส เกิดขึ้นอีกเลย เพราะถูกประหาณอย่างสิ้นเชิงด้วยมัคคจิตทั้ง ๔ เหมือนกับ การถอนรากถอนโคนต้นไม้ ไม่มีโอกาสที่จะงอกขึ้นมาได้อีก


ผลของการประหาณกิเลส
๑. เมื่อโสดาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
โสดาปัตติผลจิต ก็เกิด ขึ้นกับบุคคลนั้นขึ้นมาทันที ชื่อว่าเป็น โสดาบันบุคคล หรือ เสขะบุคคล คือ บุคคลที่จะต้องศึกษาเพียรพยายามประหาณกิเลสส่วนที่เหลือต่อไปอีก ซึ่ง ต้องใช้เวลาอีกไม่เกิน ๗ ชาติ จึงจะประหาณกิเลสได้หมดแล้วจึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์

โสดาบันบุคคล มี ๓ ประเภทคือ
ประเภทที่ ๑ เอกพีชีโสดาบัน คือ โสดาบันที่จะเกิดอีกชาติเดียวก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว
ประเภทที่ ๒ โกลังโกลโสดาบัน คือ โสดาบันที่จะต้องเกิดอีก ๒ -๖ ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้มีอินทรีย์ไม่แก่กล้านัก คือปานกลาง
ประเภทที่ ๓ สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือ โสดาบันจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติ จึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้มีอินทรีย์อ่อน

เหตุที่พระโสดาบันแบ่งเป็น ๓ ประเภท เนื่องจากการอบรมอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่เท่ากัน คือ อย่างแรงกล้า ปานกลาง และอย่างอ่อน อย่างไรก็ดี พระโสดาบันทั้ง ๓ ประเภทนี้ จะไม่ไปเกิดใน อบายภูมิ ๔ ชื่อว่าได้ปิดประตูอบายได้อย่างแน่นอนแต่จะไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง ยังมีพระโสดาบันอีกประเภทหนึ่ง ที่มีอัธยาศัยยินดีพอใจในการ ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะจนครบ ๗ ชาติ เรียกว่า วัฏฏภิรตโสดาบัน จะไปเกิด ในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น ตลอดจนถึงอกนิฏฐภูมิ เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี วิสาขามหาอุบาสิกา ท้าวสักกเทวราช เป็นต้น
๒. เมื่อสกทาคามิมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
สกทาคามิผลจิตย่อม เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ทำให้สำเร็จเป็นสกทาคามีบุคคล สามารถเข้าเสวย วิมุตติสุข (ความสุขที่เกิดจากผลของการประหาณกิเลสของสกทาคามิมัคค จิต) ขณะเข้าผลสมาบัติได้ ซึ่งจะกลับมาเกิดในมนุษยโลกอีกเพียงครั้งเดียว และสำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระสกทาคามีบุคคล มี ๕ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษยโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์
ประเภทที่ ๒ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์
ประเภทที่ ๓ ผู้สำร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษยโลกไปเกิดบนเทวโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต
ประเภทที่ ๔ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลก มาเกิดในมนุษยโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์
ประเภทที่ ๕ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษยโลก ไปเกิดบนเทวโลก แล้วกลับมาเกิดใน มนุษยโลกอีกครั้งหนึ่งทำความเพียรแล้วบรรลุพระอรหันต์

๓. เมื่อพระอนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด อนาคามิผลจิตย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นทันที สำเร็จเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งจะไม่มาเกิดใหม่ในมนุษยโลกอีก จะไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา หรือจะไปเกิดในรูปภูมิ ๑๐ ที่นอกจากสุทธาวาส ๕ อสัญญสัตตภูมิ ๑ และอรูปภูมิ ๔

พระอนาคามีบุคคล มี ๕ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์แล้วนิพพานในกึ่งแรกของอายุในภูมินั้น
ประเภทที่ ๒ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์แล้วนิพพานในกึ่งหลังของอายุในภูมินั้น
ประเภทที่ ๓ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์โดยไม่ต้องใช้ความเพียรมากแล้วนิพพาน
ประเภทที่ ๔ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์ ต้องใช้ความเพียรมาก แล้วนิพพาน
ประเภทที่ ๕ พระอนาคามีเกิดในสุทธาวาสตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ถึง ชั้นที่ ๕ ตามลำดับ แล้วเข้านิพพานในชั้นที่ ๕ นั้น

๔. เมื่ออรหัตตมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
อรหัตตผลจิต ก็จะบังเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นทันที บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการประหาณกิเลสขั้นสุดท้าย คือโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยความฟุูงซ่าน ๑ ดวง เป็นการประหาณอกุศลจิต ๑๒ ครบถ้วน อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีที่จะอาศัยเกิด (อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จะประกอบกับอกุศลมูลจิต ๑๒ ดวง เท่านั้น)



พระอรหันต์
๑. พระอรหันต์ การเรียกชื่อพระอรหันต์ เรียกตามคุณลักษณะ มี ๔ ชื่อ
๒. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะของการหลุดพ้นจากอาสว กิเลส มี ๒ ประเภท
๓. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะระยะเวลาการสร้างบารมี มี ๓ ประเภท
๔. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะปัญญาที่รู้พิเศษ มี ๒ ประเภท
๕. พระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ที่บรรลุอภิญญา

๑. พระอรหันต์ เป็นการเรียกชื่อพระอรหันต์ตามคุณลักษณะ มี ๔ ชื่อ คือ
ชื่อที่ ๑. พระอรหันต์ หมายถึง ผู้บริสุทธิ์จากกิเลส
ชื่อที่ ๒. พระขีณาสพ หมายถึง ผู้สิ้นแล้วซึ่งอาสวกิเลส
ชื่อที่ ๓. อเสขบุคคล หมายถึง ผู้ไม่ต้องศึกษา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ต่อไปอีก
ชื่อที่ ๔. วีตราคะ หมายถึง ผู้สำรอกราคะแล้ว

๒. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะของการหลุดพ้นจากอาสวกิเลส มี ๒ ประเภท
ประเภทที่ ๑ . ปัญญาวิมุตติ หมายถึง ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการเจริญ วิปัสสนา
ประเภทที่ ๒. เจโตวิมุตติ หมายถึง ผู้สำเร็จโดยการเจริญสมถและวิปัสสนา

๓. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะระยะเวลาการสร้างบารมี มี ๓ ประเภท
ประเภทที่ ๑. พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการตรัสรู้ด้วย พระองค์เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้
ประเภทที่ ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่สอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่ได้
ประเภทที่ ๓. พระอรหันต์สาวก ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการรู้ตาม คือรู้แจ้ง ตามความเป็น จริงตามปัญญาตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉพาะพระอรหันต์สาวกยัง แบ่งตามความสามารถออกได้อีก ๓ ประเภท คือ
๓.๑ ปกติสาวก หมายถึง พระสาวก หรือพระอรหันต์ ทั่วไป
๓.๒ มหาสาวก หมายถึง พระสาวกผู้ใหญ่ผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ๘๐ รูป และส่วนมากจะได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ(มีความเป็นเลิศ)ด้วย
๓.๓ อัคคสาวก หมายถึง อัคคสาวกเบื้องซ้ายและพระอัคคสาวกเบื้องขวา ซึ่งในพุทธศาสนาของพระสมณโคตมนี้ อัคคสาวกเบื้องซ้ายคือ พระโมคคัลลาน์ พระอัคคสาวกเบื้องขวาคือ พระสารีบุตร ซึ่งจะเห็นในโบสถ์ที่ยืนอยู่ด้านซ้าย และขวาของพระประธาน
๔. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะปัญญาที่รู้พิเศษ มี ๒ ประเภท
ประเภทที่ ๑. พระอรหันต์ผู้มีปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานรู้ในผลทั้งปวงที่มาจากเหตุ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานรู้ในเหตุที่ทำไห้บังเกิดผล
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานในภาษาที่มาของผลและเหตุทั้งปวง
๔. ปฏิภานปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานในธรรม ๓ ประการข้างต้น มีความคล่องแคล่ว ว่องไว เฉียบแหลมคมคาย
ประเภทที่ ๒. พระอรหันต์ธรรมดา ผู้ไม่มีปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ดังกล่าวข้างต้น

๕. พระอรหันต์ ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์และสำเร็จคุณพิเศษคือได้อภิญญา
ด้วย คำว่า อภิญญามีทั้งอภิญญา ๓ และอภิญญา ๖ ( หรือเรียกว่า วิชา ๓ วิชา ๖) รายละเอียดดังนี้ อภิญญา ๖ คือ
๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๒.ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์และรู้ว่าตายแล้วไปเกิดที่ไหน
๓.อาสวักขยญาณ รู้วิธีทำกิเลสให้หมดไป
๔.ปริจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น
๕. ทิพพโสตญาณ หูทิพย์
๖. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้



วิกิ

ผลการค้นหา